สนข.ประชาพิจารณ์ระบบขนส่ง “รถรางเบา LRT” ในตัวเมืองโคราชมี 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ครั้งสุดท้ายแล้ว เตรียมเสนอให้ครม.อนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง ลุยเฟสแรกเส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เคาะราคาค่าบริการ 15-25 บาท ด้าน อาจารย์มทส.ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ยันข่าวลือรถจอดข้างทางไม่ได้ ไม่จริงยังใช้ชีวิตทำธุรกิจได้ตามปกติ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่3 โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ณ ห้องสุรนารี โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช โดยมี ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผอ.สนข. เป็นประธานฯ โดยมี หน่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนมาร่วมกว่า 800 คน
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม โดยด้านคมนาคมทางบก เริ่มจากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวารเพิ่มเติม”
“ซึ่งกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาค ด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีการเจริญเติบโนทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณการจราจรภายในจังหวัดหนาแน่น การกระจายสินค้า และบริการ ตลอดจนการขนส่งสาธารณะไม่คล่องตัว”
นางวิไลรัตน์ กล่าวอีกว่า “ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรภายในจังหวัดนครราชสีมาในอนาคต และแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน ทาง สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นโรดแมปครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจราจรขนนส่งสาธารณะ และเพื่อให้การเดินทางสัญจรในจังหวัดนครราชสีมา มีความคล่องตัว”
“และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อันจะนำไปสู่การบรรเทาสภาพปัญหาการจราจรในอนาคต ทาง สนข. จึงได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อพบปะกับผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 ครั้ง และมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 2 ครั้ง จนนำมาสู่แผนแม่บทการสร้างระบบขนส่งรถรางเบา LRT ครั้งนี้ขึ้น” นางวิไลรัตน์ฯ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า “จากผลการศึกษาเส้นทางรถราง LRT ในตัวเมืองโคราชมี 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ซึ่งในเฟสแรกจะเริ่มจากสีเขียว กับสีส้มก่อน ส่วนเฟสที่2 จะเป็นสีม่วง เฟสที่3 ก็จะเป็นส่วนต่อขยาย”
“เท่าที่ทราบจากการไปสอบถามประชาชนที่อาศัยบริเวณรถรางผ่าน ทุกท่านกังวลว่าหากมีรถรางแล้วจะทำให้ไม่สามารถจอดรถยนต์ได้ ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง 100% เพราะในบางถนนเราไม่ได้ห้ามจอดเพราะไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเลย อย่างเส้นถ.มุขมนตรี กับถ.โพธิ์กลาง ซึ่งเป็นเฟสแรกเราออกแบบให้รถวิ่งตรงกลางถนน เราไม่ได้ระบุไปว่าห้ามจอดตรงไหน อย่างสถานีจุดจอดรถรางเราพยายามที่จะเลือกบริเวณที่เจ้าของอาคารร้านค้าตรงนั้นเห็นด้วย”
“ซึ่งการจอดรถของประชาชนข้างทางก็ยังทำได้ตามปกติ และตามกฎจราจรที่จะปรับรูปแบบอย่างไร ตามเส้นทางที่ รถไฟฟ้า LRT วิ่งผ่านนั้น สามารถจอดรถส่วนบุคคลได้ชั่วคราว แต่หากเป็นช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า LRT ไม่ได้ให้บริการก็สามารถจอดรถส่วนบุคคลได้ตลอดเวลา”
ผศ.ดร.รัฐพล กล่าวอีกว่า “โดยแต่ละช่วงที่เป็นสถานีจอดรถไฟฟ้า LRT เป็นพื้นที่ของหน่วยราชการ วัด หรืออื่นๆ ที่รบกวนประชาชนทั่วไปน้อยที่สุด นอกจากนั้นแล้วการศึกษาครั้งนี้ได้ดำเนินการ เพื่อวางแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและการจัดระบบการจราจร รวมถึงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในเมืองโคราช เพื่อส่งเสริมความสะดวกสบาย เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการ ได้ใช้รถไฟฟ้า LRT แบบประหยัดอีกด้วย”
“โครงการรถราง LRT จะเป็นการส่งเสริมในการลดค่าใช้จ่าย และเพื่อความปลอดภัย ในการเดินทาง พร้อมทั้งเพื่อพัฒนา เมืองโคราชให้ทันสมัย เทียบเท่ากับนานาอารยะประเทศ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง และยังส่งเสริมทางด้าน จริยะธรรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเมืองโคราชด้วย”
“ซึ่งขั้นตอนต่อไป หลังจากการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และการจัดระบบการจราจร รวมถึงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในเมืองโคราช จะเป็นขั้นตอน การออกแบบรายละเอียด และ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชน ที่เกี่ยวข้องโดยตรง สามารถแสดงความคิดเห็นได้อีกครั้งในช่วงเวลานั้น เพื่อการปรับปรุงออกแบบ เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า LRT ต่อไป” ผศ.ดร.รัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการก่อสร้างนั้น ในเฟสแรก เส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เฟสที่สองสายสีม่วง ปี 2566-2568 และเฟสที่สาม ส่วนต่อขยายเส้นทางต่างๆ ปี 2569-2571 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท โดยภายหลังจากที่ได้ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ครบทั้ง 3 ครั้งแล้ว ทาง สนข.ก็จะได้เสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างต่อไป