เปิดเส้นทางไทม์ไลน์ประเด็นสุดร้อน “ขอนแก่น-อุดร” ได้ทางรถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองยกระดับ แต่โคราชไม่ยก อนาคตโคราชจะเป็นเมืองอกแตก “นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย” จุดประเด็นครั้งแรกให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น “นสพ.เอ็กเซ็คคิวทีฟ” ชี้รูปแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ของ “สนข.” หากไม่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองโคราช ไม่เป็นผลดีต่อวิถีการใช้ชีวิตชุมชน จากนั้นดึง “หอการค้า-สภาอุตฯ” เข้าร่วมก่อนร้อง “แม่ทัพภาคที่2 และผู้ว่าโคราช” ส่งเรื่องถึงกระทรวงคมนาคมจนกระทั่งล่าสุด มีผลทำให้รมช.คมนาคมเรียกทุกฝ่ายชี้แจง และสั่งต้องทบทวนโปรเจ็กต์ทางรถไฟรางคู่ผ่านเมืองโคราชใหม่ทั้งหมด
สื่อท้องถิ่นประโคมข่าว“โคราชเมืองอกแตก”
ย้อนหลัง “นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย” เปิดประเด็นที่ชาวโคราชไม่รู้เรื่อง รูปแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ของ “สนข.” ไม่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองโคราช “ยกเลิกจุดตัดทางข้ามรถไฟ” ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน เหมือนกำแพงกั้นขับรถเข้าเมือง ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เอ็กเซ็คคิวทีฟ ฉบับวันที่ 5-20 มิถุนายน 2560 โดยพาดหัวข่าวว่า “ผ่าวิกฤติปิดทางข้ามรถไฟ-ไมยกสูง โคราชเมืองอกแตก” และโพสต์ลงเว็บไซต์ “www.executivekorat.com กับ www.korat startup.com” ทำให้เกิดกระแสใหม่ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ไม่เห็นด้วยปิดทางข้ามรถไฟถาวร
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา เปิดประเด็นว่า “ที่ตนมองโครงการสร้างทางรถไฟ ช่วงเส้นทางผ่านตัวเมืองโคราชถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ มีจุดตัดเป็นถนนข้ามทางรถไฟเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอาณาเขตติดต่อกันและชุมชนขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่โคกกรวดถึงตัวเมืองโคราชต้องเป็นทางยกระดับไม่ใช่ทางพื้นถนนหลักไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ ซึ่งปัจจุบันทางข้างรางรถไฟจะใช้เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ควบคุมการเปิดปิดเครื่องกั้น แต่รูปแบบการก่อสร้างของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ยกเลิกจุดตัดทางข้ามถาวร ให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ซึ่งเป็นจุดเดิมและก่อสร้างใหม่ที่หน้าทางเข้าค่ายสุรนารีแทน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน”
“เทศบาล-หอการค้า-สภาอุตฯ”รวมตัว
หลังจากนั้นเทศบาลนครนครราชสีมา โดย นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย ได้เชิญร่วมกับ นายชัชวาล วงศ์จร ปธ.หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ปธ.สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมเรื่องทางรถไฟรางคู่ ที่ร้าน “PIDASO” โดยกำลังรวบรวมข้อมูล สำรวจรายละเอียดผลกระทบทางคุณภาพชีวิตและตัวเลขทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการดำรงชีวิต รวมทั้งความต้องการที่แท้จริงของประชาชนชาวโคราช ชี้แจงต่อแม่ทัพภาคที่2 และผู้ว่าฯเพื่อเสนอต่อ สนข.และรัฐบาล
“ชาวสีคิ้ว”ฮึ่มทางรถไฟต้องยกสูง
และกลายเป็นกระแสแรงยิ่งขึ้น ทำให้ชาวอำเภอสีคิ้ว โดยทางนายปรีชา จันทรรวงทอง นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว ได้รับทราบปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ออกโรงขู่หากรถไฟทางคู่ผ่านเมือง แล้วไม่ทำทางยกระดับ จะรวมตัวต่อต้านจนถึงที่สุด ชี้มิได้คัดค้านหรือต้องการถ่วงความเจริญ หากไม่ยกระดับหวั่นตัวเมืองจะถูกแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง ไปมาหาสู่กันลำบากกลายเป็นเมืองอกแตก ขณะนี้ ชาว อ.สีคิ้ว ที่ทราบรูปแบบการก่อสร้างโครงการ ฯ พากันหวั่นวิตกพร้อมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จุดยืนพวกเรามิได้คัดค้านหรือต้องการถ่วงความเจริญ แต่ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฐานะเจ้าของโครงการ ฯ ทบทวนพิจารณารูปแบบทางรถไฟช่วงผ่านตัวอำเภอ เป็นทางยกระดับ
“หอการค้า-สภาอุตฯ”ร้องแม่ทัพฯ-ผู้ว่าฯ
จากนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมรองปธ.หอการค้าฯ และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปยื่นหนังสือถึง พลโท วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี เรื่องทางรถไฟรางคู่ผ่านตัวเมืองโคราชต้องยกระดับ
“หอการค้า”เพิ่งรู้ทางรถไฟผ่านพื้นดิน
นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การที่หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมฯได้มาพบ พลโท วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เนื่องจากการรถไฟอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ก็เป็นเรื่องดีของจังหวัดนครราชสีมา แต่เนื่องจากว่าเราซึ่งเป็นเจ้าของจังหวัดไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่อง การสร้างทางรถไฟรางคู่ครั้งนี้ ในเรื่องจุดจอด หรือการสร้างทางรถไฟจะยกระดับหรือไม่ยกระดับ เราพึ่งมาได้ข้อมูลว่าทางรถไฟรางคู่ที่จะผ่านตัวเมืองโคราชเป็นวิ่งทางพื้นดิน ซึ่งเรามองและวิเคราะห์ดูแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในโคราชอย่างมากมาย”
กำแพงสูง 2 เมตรกั้นทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่ง
“และที่เป็นประเด็นสำคัญคือเส้นทางที่ทางรถไฟรางคู่ผ่านเข้าเมือง จะต้องทำกำแพงสูง 2 เมตรกั้นทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนวทั้งหมด ซึ่งจะเป็นกำแพงที่ปิดกั้นการไปมาหาสู่กันอย่างมากของคนในเมืองโคราช จะแตกต่างจากการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แค่รอสัญญาณเวลารถไฟวิ่งผ่านเท่านั้นเอง ซึ่งหากมีการสร้างทางรถไฟรางคู่ ชีวิตการเดินทางเราต้องใช้สะพานข้ามเกือกม้าแทน ทำให้การใช้ชีวิตปกติเปลี่ยนไปรวมถึงการใช้พลังงานน้ำมันที่สิ้นเปลืองมากขึ้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆมีผลมาก” ปธ.หอฯโคราชกล่าว
ผู้ว่าโคราชเห็นด้วยต้องยกระดับ
ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “จังหวัดเองต้องรวบรวมข้อมูลจากพี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่เห็นว่าทางรถไฟรางคู่น่าจะยกระดับเพื่อให้การจราจรในจังหวัดติดขัดอย่างมากให้ลดปัญหาน้อยลง ทางจังหวัดก็เห็นด้วยในเรื่องนี้”
รวมข้อมูลเสนอรัฐมนตรีว่าการคมนาคม
“การรถไฟก็มีเหตุผลที่จะให้รางรถไฟอยู่ระดับล่าง แต่ชาวโคราชก็มีเหตุผลที่จะให้ยกระดับไม่เช่นนั้นระยะยาวจะมีปัญหาการจราจรและมีปัญหาเรื่องความเจริญเติบโตของเมืองและกระทบกับระบบเศรษฐกิจของเมืองโคราชอย่างมาก เพราะว่ารถไฟที่วิ่งปัจจุบันในเขตตัวเมืองมีจุดตัดถึง 14 จุดหากมีการปิดทั้งหมดแล้วทำสะพานใหม่ไม่กี่จุดจะกระทบเศรษฐกิจทั้งหมดและหลังจากนี้เราจะรวบรวมปัญหาทั้งหมดเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการคมนาคมต่อไป”
การรถไฟฯลงทุนเพิ่มครั้งเดียวจบ
“ถ้าทางรถไฟยอมลงทุนเพิ่มอีกไม่มากเพื่อสร้างทางยกระดับรถไฟรางคู่ที่วิ่งอยู่ในเขตตัวเมืองโคราช ก็แค่ลงทุนครั้งเดียวก็จบและจะสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ทั้งหมด ส่วนที่การรถไฟออกมาบอกว่าโคราชยกระดับทางรถไฟไม่ได้ ตนมองว่าการรถไฟคงมองเรื่องวิศวกรรมการก่อสร้างอย่างเดียว แต่ที่เรารวบรวมข้อมูลเป็นปัญหาอื่นๆที่จะตามมา โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในเขตชุมชนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ถ้าเราเอาเหตุผลต่างๆไปให้การรถไฟเขาคงเข้าใจ และน่าจะทบทวนเรื่องนี้ใหม่” ผู้ว่าฯกล่าว
การรถไฟฯแจงยิบโคราชยกระดับไม่ได้
และในวันเดียวกันทางตัวแทนรฟท. นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีนี้ผ่านทางสถานีวิทยุสวท.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดิน เนื่องจากสถานีรถไฟนครราชสีมาเป็นย่านใหญ่ และอยู่ห่างจากชุมทางถนนจิระเพียง 3 กิโลเมตร”
ถ้ายกระดับมีปัญหาสร้างรถไฟเร็วสูง
“หากจะปรับรูปแบบให้เป็นทางยกระดับในช่วงดังกล่าว จะต้องยกระดับบริเวณสถานีจิระด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหากปรับรูปแบบช่วงสถานีรถไฟนครราชสีมาให้เป็นทางยกระดับ จะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต”
ปิดทางกั้นสร้างสะพานเกือกม้าแทน
“นอกจากนี้เมืองนครราชสีมายังมีโรงรถจักรสำหรับการซ่อมบำรุงรักษารถ หากปรับรูปแบบเป็นทางยกระดับ จะไม่สามารถนำรถเข้าโรงรถจักรสำหรับซ่อมบำรุงได้ ที่สำคัญคือจุดตัดทางรถไฟในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีระยะห่างกันค่อนข้างมาก การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงออกแบบให้มีสะพานข้ามทางรถไฟ หรือถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟ แล้วสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าทดแทนจุดตัดทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยที่ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านทางรถไฟได้เหมือนเดิม” นายอานนท์ กล่าว
ผู้ว่าฯนำทีมชาวโคราชพบรมช.คมนาคม
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา สำนักงานกรมทางกลางนครราชสีมา ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา นายกเทศมนตรีเมืองสีคิ้ว หอการค้าฯ สภาอุตสหกรรมฯ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ประธานชุมชนเดชอุดมพัฒนา, ประธานชุมชนโคราชคฤหาสน์ทอง ร่วมประชุมชี้แจงปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการก่อสร้างรถไฟรางคู่ผ่านเมืองโคราชแล้วไม่ยกระดับ กับนายพิชัย อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นัดรอบ2 เตรียมข้อมูลทุกฝ่ายหารือ
จากการหารือ มติที่ประชุมเรื่องการแก้ปัญหารถไฟทางคู่โคราช โดย รมช.คมนาคม /ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย 1.รับทราบปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น 2.มีข้อจำกัดในเรื่องกระบวนการก่อสร้างจะต้องได้ผู้รับจ้างภายใน 1 ก.ย. 2560 และ3.มอบหมายให้ตัวแทนโคราชและกระทรวงคมนาคม / รฟท. / บริษัทที่ปรึกษานำข้อมูลมาพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อหาทางออก ในวันที่ 25 ก.ค.2560 เวลา 09.00 น.ที่กระทรวงคมนาคม ว่าจะสามารถยกระดับบางส่วนแก้ปัญหาบางจุดได้หรือไม่
รมช.ตั้งกรรมการเพื่อหาทางออก
ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “วันนี้เป็นการรับฟังข้อมูลจากทางจังหวัดฯ ต่อไปจะเป็นการรับฟังข้อมูลทางเทคนิคจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสรุปข้อมูลให้ตรงกันทั้ง 2 ด้าน ผลการประชุมวันนี้เรารู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร เราจะตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อหาทางออก ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เราจะต้องแก้ แต่ว่าวิธีการต้องแก้ปัญหาโดยไม่มีปัญหาสืบเนื่องต่อไปอีก ต้องทำให้รอบคอบ และต้องเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อพี่น้องประชาชนชาวโคราช ทั้งที่ อ.เมือง และ อ.สีคิ้วด้วย”
ยกระดับต้องแน่ใจไม่มีปัญหาจริงๆ
“ที่ร้องเรียนมาคือเรื่องการจราจร เรื่องการกีดขวางทางน้ำ เรื่องความปลอดภัยต่างๆ เรื่องวิถีชุมชน เรื่องธุรกิจ ทั้งหมดนี้มันแก้ปัญหาได้ในหลายรูปแบบ และการยกระดับต้องแน่ใจนะว่ายกแล้วไม่มีปัญหาจริงๆ หากมีการแก้ไข คนโคราชจะได้ใช้ประโยชน์ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1-2 ปี ก็ต้องดูว่าคุ้มไม่คุ้ม แต่ช้าแล้วต้องแก้ปัญหาได้ด้วย ไม่ใช่ว่าช้าด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ด้วย หลักๆเราถึงต้องทำงานให้รอบคอบ” ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กล่าว
ถกรอบ2 ชาวโคราชได้เฮแก้ไขแบบ
และล่าสุดเมื่อวันนี้ 25 กรกฎาคม ที่กระทรวงคมนาคม ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย, นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย, นายชัชวาล วงศ์จร ปธ.หอฯโคราชฯลฯไปร่วมประชุมสรุปปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการก่อสร้างรถไฟรางคู่ผ่านเมืองโคราชแล้วไม่ยกระดับ โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม /รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย /รอง ผอ.สนข.และบ.ที่ปรึกษา
สรุป 3 ข้อพร้อมเคลียร์อีกครั้งสิงหาคม
1.มอบหมายให้ รฟท.ไปจัดทำรูปแบบรถไฟยกระดับโคราช ช่วงภูเขาลาด-บ้านเกาะ 15 กม.โดยรับข้อเสนอจากโคราชในการทุบสะพานข้ามสีมาธานี และสะพานหัวทะเลออก ว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
2.ของอำเภอสีคิ้ว ให้ศึกษาจัดทำรูปแบบยกระดับและทางรอดและงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และ 3.กำหนดประชุมพิจารณาในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เดือนสิงหาคม และให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นประกอบ และเชิญ รมช.มาเป็นประธานการประชุม เพื่อสรุปและนำเสนอรัฐบาลตัดสินใจต่อไป