เริ่มแล้วที่โคราชแห่งแรกเป็นจังหวัด 1 ใน 3 ของประเทศที่ได้จำลองเหตุการณ์ระทึกโลก ครั้งแรกในภาคอีสานกับนิทรรศการ “ปฏิบัติการถ้ำหลวง : วาระแห่งโลก” ร่วมถอดบทเรียนภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า ไฮไลท์พบ “หมอภาคย์” เล่าปฏิบัติการของจริง และพาท่องภายในถ้ำหลวงเสมือนจริง งานจัดระหว่างวันที่ 22-31 ตุลาคมนี้ที่ “เซ็นทรัลพลาซาโคราช”
เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2561 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ปฏิบัติการถ้ำหลวง : วาระแห่งโลก” พร้อมด้วย นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายเสฏฐวุฒิ ทัตสุระ ผจก.ทั่วไปศูนย์การค้าฯให้การต้อนรับ นิทรรศการจัดระหว่างวันที่ 22-31 ตุลาคมนี้ที่ลานโปรโมชั่น ชั้น1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา
จัดโดย “กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)” ขอเชิญทุกท่านร่วมเปิดปฏิบัติการ 18 วัน กับภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี ชมนิทรรศการ “ปฏิบัติการถ้ำหลวง:วาระแห่งโลก” ส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมเปิดปฏิบัติการ 18 วัน ร่วมถอดบทเรียนภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่า สัมผัสถึงภารกิจที่ยากลำบาก รวมถึงแสดงความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อของคนทั่วโลก นับตั้งแต่วันที่หายตัวในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ณ ถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 รวม 18 วันที่สามารถช่วยเหลือหมูป่าตัวสุดท้ายออกจากถ้ำหลวงได้สำเร็จ
สำหรับภายในงานประกอบไปด้วยร่วมฟังเสวนาปฏิบัติการถ้ำหลวง : วาระแห่งโลก จากผู้ร่วมในเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ และไฮไลท์วันที่ 27 ต.ค.ร่วมเสวนาจากเหตุการณ์จริงนำโดย “หมอภาคย์”พ.ท.น.พ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3
และชมนิทรรศการ “ปฏิบัติการถ้ำหลวง : วาระแห่งโลก” 7 โซนที่บอกเล่าเรื่องราวของ 18 วันแห่งความร่วมมือร่วมใจเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า แบ่งเป็น “โซนที่ 1: เมื่อ 13 ชีวิตคิดพิชิตถ้ำหลวง” เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้ทำความรู้จักกับผู้ช่วยโค้ช และ 12 นักฟุตบอลเยาวชนจากทีมหมูป่าอะคาเดมี พร้อมบอกเล่าเรื่องราวความสวยงามของถ้ำหลวง หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เหล่า 13 หมูป่าเข้าไปเยี่ยมเยียน
“โซนที่ 2: นาทีชีวิตวิกฤตเสี่ยงตาย” เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้เข้าถึงประสบการณ์การเป็นผู้ประสบภัย โดยมุดเข้าไปภายในถ้ำหลวงจำลองที่แสดงลักษณะทางธรณีสัณฐานและลักษณะทางกายภาพของถ้ำหลวง โดยมีเพียงไฟฉาย 1 กระบอกช่วยนำทาง เข้าไปสู่ภายในถ้ำที่คดเคี้ยวและมืดมิด แสดงให้เห็นถึงไหวพริบของเหล่าหมูป่าที่เลือกใช้ไฟฉายคราวละ 1 กระบอกจนกว่าถ่านจะหมดไปเป็นอันๆ
“โซนที่ 3: วิกฤตใหญ่รวมใจไทยเป็นหนึ่ง” ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้สัมผัสและเรียนรู้ความยากลำบากในการช่วยชีวิต 13 หมูป่า ทั้งฝ่ามวลน้ำที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นเพราะฝนที่ตกหนัก และการดำน้ำทวนกระแสน้ำเข้าไปในถ้ำท่ามกลางกระแสน้ำที่พัดแรงและขุ่น จนถึงสถานการณ์วิกฤตที่หน่วยซีลต้องถอยมาถึงปากถ้ำ ภารกิจค้นหาแทบไม่มีความหวัง ผ่านอุปกรณ์ช่วยเหลือจากทีมปฏิบัติการจริง ไม่ว่าจะเป็นชุดดำน้ำและอุปกรณ์ ผ้าห่มฟอยล์ฉุกเฉิน (Emergency foil space blankets) การสื่อสารและกระแสไฟฟ้า ถังออกซิเจน และอุปกรณ์สำหรับนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ
“โซนที่ 4: ปฏิบัติการถ้ำหลวง วาระแห่งโลก” ร่วมแสดงความชื่นชมในมิตรภาพไร้พรมแดนของภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่า จากการช่วยเหลือของมิตรประเทศทั่วโลก
“โซนที่ 5: คารวะผู้กล้าสดุดีจ่าแซม” จัดแสดงหุ่นจำลองอนุสาวรีย์ นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้เสียสละชีวิตจากการปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 หมูป่า และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้เขียนแสดงความขอบคุณความเสียสละของจ่าแซมและเหล่าผู้กล้าทุกคนในบอร์ดที่จัดไว้ให้
“โซนที่ 6: บทเรียนที่โลกทึ่ง” จัดแสดงการถอดบทเรียนความสำเร็จของปฏิบัติการถ้ำหลวง ต้นแบบของการกู้ภัยภายในถ้ำ ตั้งแต่การรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โมเดลการกู้ภัย ภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม และการตัดสินใจในยามคับขันของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) และการช่วยเหลือจากนานาประเทศ
และ “โซนที่ 7: จารึกปฏิบัติการถ้ำหลวง” ประมวลเหตุการณ์การช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต นับตั้งแต่วันที่หายตัวไปจนถึงวันที่ภารกิจสำเร็จ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยไม่ย่อท้อ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยเหลือ 13 หมูป่า