สถาบันวิจัยแสง “ซินโครตรอนโคราช” ออกโรงย้ำชัด น้ำดื่มไทยปลอดภัยต่อการบริโภค หลังทั่วโลกผวาพบจำนวนมาก ปนเปื้อนในน้ำดื่มทุกยี่ห้อดัง เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม จำนวน 24 ขวดจาก 12 ยี่ห้อที่วางขายในร้านสะดวกซื้อตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด การันตีตรวจพบเส้นใยธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เส้นใยฝ้าย กระดาษ เซลลูโลส และอนุภาคที่เป็นสารอินทรีย์

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 61 ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ออกมาเปิดเผยว่า “เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการหลายแห่งทั้งในยุโรป และอเมริกา ได้ให้ความสนใจในเรื่องไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากห้องปฏิบัติหนึ่งในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 250 ขวดจาก 11 ยี่ห้อที่มีจำหน่ายใน 9 ประเทศ พบว่าตัวอย่างจำนวน 93% ปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 11 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร”

 

“ดังนั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ในเรื่องความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวดของประเทศไทย ทางทีมของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำดื่ม จำนวน 24 ขวดจาก 12 ยี่ห้อที่วางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไป มาทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด (FTIR-Microspectroscopy) พบว่ามีเพียง 41% ของจำนวนทั้งหมดที่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อน และมีปริมาณโดยเฉลี่ย 2 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมาก จนเชื่อได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค”

ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า “สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำดื่มนั้น ระบบกรองสามารถดักจับอนุภาคที่มีขนาดเล็กในระดับ 4 – 6 ไมโครเมตร หรือประมาณ 1 ใน 20 เท่า ของขนาดเส้นผมมนุษย์ได้ ดังนั้นอนุภาคส่วนใหญ่ รวมถึงไมโครพลาสติกจะถูกกรองในระบบก่อนการบรรจุขวด การปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้ำดื่มอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น บรรจุภัณฑ์ คือ ขวดพลาสติก หรือฝาปิดเอง”

“นอกจากนั้น ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สามารถระบุสิ่งที่ตรวจพบได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทางสถาบันตรวจพบเส้นใยธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตราย เช่น เส้นใยฝ้าย กระดาษ เซลลูโลส และอนุภาคที่เป็นสารอินทรีย์ เป็นต้น ในน้ำดื่มทุกยี่ห้อ มีปริมาณเฉลี่ย 5 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร การปนเปื้อนนี้อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นผงที่เบาบางล่องลอยอยู่ในอากาศ มีที่มาจากหลายแหล่ง เช่น เสื้อผ้า กระดาษ ฯลฯ แล้วปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนการบรรจุนั่นเอง”

ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า “ในฐานะที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล เรามีหน้าที่สร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยใช้ความรู้และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เพื่อพิสูจน์ความจริง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย งานวิจัยนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันในความปลอดภัยของน้ำดื่มไทย” ดร.สมชาย กล่าวสรุป