13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา รวมตัวยื่นเรื่องถึง “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” และรัฐบาลใหม่ ขอให้อนุรักษ์สถานีรถไฟเก่าแก่ของโคราชไว้ เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ แกนนำค้าน “วีรพล จงเจริญใจ” ยัน “สถานีรถไฟโคราช” มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่พ.ศ.2443 สมัย “รัชกาลที่ 5” มีอายุ 123 ปี หากไม่ทุบมีแผนทำเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาแห่งใหม่ มีหอศิลป์ สร้างเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ
หลังจาก กลุ่ม 13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย “หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, ชมรมธนาคาร, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ชมรมประกอบการร้านอาหาร, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, เครือข่าย Biz Club, ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางโคราช, สมาคมโรงแรม, สมาคมอสังหาริมทรัพย์, กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมิตรภาพไทย-จีนจังหวัดนครราชสีมา, มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา และ สมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรจังหวัดนครราชสีมา” ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา กับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมือง โดยมีข้อความว่า
“เนื่องด้วยสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ (ชื่อสามัญ หัวรถไฟ หรือ หัวรถฯ) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เดิมชื่อสถานีโคราช เป็นสถานีรถไฟสายแรกของประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสถานีรถไฟแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัดนครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปีพ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จประพาสเยี่ยมพสกนิกร ณ สถานีรถไฟแห่งนี้เช่นกัน
ปัจจุบัน “สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา” มีอายุยาวนานมากกว่า 123 ปี ตัวอาคารยังทรงคุณค่าทางเอกลักษณ์สถาปัตยกรรม เป็นอาคารที่เปลี่ยนแปลงหมุดหมายทางสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ มีความผูกพันกับชาวนครราชสีมา และชาวอีสานเป็นอย่างมาก
13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา เล็งเห็นว่า “ควรมีการอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมาไว้เช่นเดิม ก่อนที่จะมีการปรับปรุง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ในอนาคต” จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านในการหาแนวทางอนุรักษ์รักษาอาคารสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมาสืบไป”
นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เปิดเผยความคืบหน้าว่า “หลังจากทางเราได้ทราบข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมทุบถอนอาคารสถานีรถไฟเก่า เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟใหม่ตามแบบสูง 3 ชั้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งมีกำหนดเริ่มทุบเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”
“ตามแบบสถานีใหม่ตัวอาคารสถานีจะอยู่ตรงซุปเปอร์มาร์เก็ตไฟว์สตาร์มาร์โค ที่ทุบไปแล้ว ส่วนอาคารสถานีเก่าจะทุบเพราะพื้นที่ทับรางรถไฟที่จะสร้างใหม่ ทำให้เราคิดว่าน่าจะอนุรักษ์ไว้โดยเลื่อนรางรถไฟออกไป 20 เมตร ไม่ต้องรื้อสถานีเก่าได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ได้ชวนองค์กรต่างๆในโคราชร่วมกันทำหนังสือถึง รฟท.และหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย”
“เราขอยืนยันว่าไม่ได้คัดค้าน หรือชะลอการสร้างสถานีใหม่ให้ช้า เราไม่ได้ถ่วงความเจริญเพียงแต่อยากให้การรถไฟช่วยอนุรักษ์สถานีเก่าที่มีความทรงจำมากมายให้อยู่คู่เมืองโคราช ควบคู่กับสถานีแห่งใหม่ไม่ได้ขัดขวางที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ แต่หากทาง รฟท.จะไม่ทำตาม เราก็ไม่ไปคัดค้านหรือต่อต้านอะไรได้ แต่ก็ยังหวังว่าจะเป็นไปได้”
นายวีรพล กล่าวต่อว่า “เมื่อเร็วๆนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดย “ดร.เอ้”สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงพื้นที่โคราชมาพบกลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ตนได้หารือเรื่องนี้ซึ่ง ดร.เอ้เป็นวิศวกรด้วยดูข้อมูลจากเราแล้วบอกว่าในหลักวิศวกรรมทำได้ ซึ่งที่รู้มาทางผู้ออกแบบสถานีรถไฟเป็นประเทศจีน ซึ่งเขาก็ไม่ได้รับรู้และเข้าใจในวัฒนธรรมของคนไทย อะไรขวางก็รื้อออก ซึ่งทางคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ผูกพันกับรถไฟเป็นคนโคราช สมัยเด็กขายน้ำฝนที่สถานีรถไฟสีคิ้ว ก็เห็นด้วยที่จะอนุรักษ์สถานีรถไฟโคราชไว้”
“และตนได้ไปประชุมกับ คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) มีเจ้าหน้าที่รถไฟประชุมด้วย ก็ได้รับเรื่องนี้ไปด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ของการรถไฟ เราก็บอกว่าไม่ได้คัดค้านการสร้างสถานีใหม่ แค่ปรับแนวรางใหม่ไม่ให้ไปทับสถานีเก่าเพื่ออนุรักษ์ไว้ และตัวสถานีใหม่ก็ไม่ได้สร้างตรงสถานีเก่า หากเก็บไว้ได้จะทำให้คนโคราชสบายใจเพราะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และยังสามารถใช้ประโยชน์ได้”
“เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ไหนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอยู่ที่วัดสุทธจินดา ซึ่งเล็กและแออัดมาก ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆเช่น พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เขาใช้ศาลากลางเก่ามาทำเป็นแลนด์มาร์คของเมืองอุดรด้วย หากเราย้ายพิพิธภัณฑ์เมือง มาออยู่ที่สถานีรถไฟ คนที่เดินทางมาลงที่นี่จะได้ชมประวัติเมืองโคราชได้ด้วย หากไม่รื้อสถานีรถไฟเราต้องมาร่วมกันหาทางออกเพื่อทำให้สถานีแห่งนี้มีชีวิตชีวา เป็นอีกแลนด์มาร์คของเมืองโคราช เป็นหอศิลป์ก็ได้ มีพิพิธภัณฑ์เมืองฯ มีร้านค้าต่างๆเล็กที่ดูดีอย่าง OTOP ไม่ใช่ขายสินค้าทั่วไป เพื่อนำงบมาดูแลสถานีได้ หากไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากอนุรักษ์สถานีรถไฟโคราชไว้”
“ช่วงนี้อาจจะเป็นสุญญากาศทางการเมือง เพราะมีเลือกตั้งใหม่ ต้องรอหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลแล้ว แต่ช่วงนี้เราต้องคุยกับทางรถไฟก่อน หากสามารถปรับแบบได้และมองเห็นความสำคัญจากข้อเรียกร้องของคนโคราช แต่ถ้าต้องรอมติคณะรัฐมนตรี เราก็ต้องรอหลังมีรัฐบาลแล้วและใครเป็นรัฐมนตรีคมนาคม” นายวีรพล กล่าวทิ้งท้าย