ชาวโคราช 2 อำเภอร้องสื่อ สถานีรถไฟสร้างใหม่ที่อ.บัวใหญ่ ในโครงการรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น พบใช้บริการยากลำบาก ต้องเดินขึ้นสะพานลอยสูงกว่า 6 เมตร ขณะที่ผู้พิการไม่สามารถขึ้นสะพานลอยได้ต้องเดินต่อไปอีก 300 เมตร เพื่อไปข้ามที่ปลายชานชาลา ด้านชาวบ้านอ.คงโวย สร้างสถานีรถไฟเมืองคงแห่งใหม่ 2 ฝั่งชานชาลาเปลืองภาษีประชาชน ระบุเปิดใช้แค่ฝั่งเดียว ทำให้ลำบากต้องขึ้นสะพานลอยข้ามไปซื้อตั๋ว แล้วต้องย้อนกลับมารอขึ้นรถอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เรื่องชานชาลาสถานีกำลังสร้างปัญหาให้กับผู้สูงวัย ผู้พิการ และชาวบ้านที่ต้องแบกสัมภาระจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบลงพื้นที่ พบว่า สถานีชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานีหลักเชื่อมระหว่างรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น และเส้นทางรถไฟสายลำนารายณ์ ทำให้แต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยสถานีชุมทางบัวใหญ่แห่งใหม่ ได้ย้ายจากสถานีเดิมมาเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเป็นระยะๆ เกี่ยวกับความยากลำบากในการใช้บริการ
นายไพโรจน์ กัญญาวัชยุวพงษ์ ผู้พิการชาวบัวใหญ่ ที่ต้องใช้บริการโดยสารรถไฟเป็นประจำเพื่อมาขายลอตเตอรี่ในช่วงเช้า เปิดเผยว่า “สถานีแห่งใหม่ที่ย้ายมาใหญ่โตกว้างขวาง แต่กลับเพิ่มความยากลำบากในการใช้บริการเป็นอย่างมาก เพราะต้องเดินขึ้นสะพานลอยความสูงประมาณ 6 เมตร เพื่อไปขึ้นรถไฟ ซึ่งผู้พิการไม่สามารถจะขึ้นสะพานลอยได้ จำเป็นต้องเดินเป็นระยะทางประมาณ 300 เมตรไปยังทางข้ามที่อยู่ปลายชานชาลา แล้วเดินวกกลับมารอ รถไฟที่ชานชาลาอีก 300 เมตร รวมเป็นระยะทางที่ผู้พิการจะต้องเดินถึง 600 เมตร อีกทั้งทางข้ามดังกล่าวไม่มีหลังคาบังแดดบังฝนแต่อย่างใด จึงอยากให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งแก้ไขอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการด้วย”
ด้านคุณยายเพ็ญจันทร์ ชัยภักดี อีกหนึ่งผู้ใช้บริการสะพานลอยข้ามรางรถไฟ กล่าวว่า “จากการขึ้นสะพานลอยเพื่อมารอขึ้นรถไฟเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อเดินขึ้นสะพานลอยมาแล้วก็ต้องหยุดพักเป็นระยะๆ เพราะเหนื่อยมาก เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็มีผู้โดยสารเป็นลมบนสะพานลอย จนเจ้าหน้าที่กู้ภัย ต้องช่วยกันหามส่งโรงพยาบาลมาแล้ว”
“จึงอยากให้การรถไฟฯ ทางข้ามที่เอื้ออำนวยให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการมากกว่านี้ โดยเมื่อทีมข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้แจ้งว่า สถานีรถไฟแห่งใหม่ได้รับการอนุมัติเก้าอี้พักคอยผู้โดยสารเพียง 4 ชุดหรือ 16 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้บริการในแต่ละวัน จึงนับเป็นความยากลำบากรายวันที่ผู้มาใช้บริการจะต้องประสบจริงๆ”
ล่าสุดชาวบ้านในอำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ได้มาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการสร้างสถานีรถไฟเมืองคงแห่งใหม่ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการฯที่ก่อสร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีรถไฟเมืองคง พบว่า มีการก่อสร้างช่องจำหน่ายตั๋วรถไฟทั้ง 2 ด้านของสถานี แต่เปิดจำหน่ายตั๋วเพียงด้านเดียว คือบริเวณฝั่งขาล่อง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่หรือนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการจะขึ้นที่ฝั่งตลาดเมืองคง คือฝั่งขาขึ้น ทำให้ต้องลำบากเดินขึ้นลงสะพานลอยเพื่อข้ามไปซื้อตั๋วรถไฟอีกฝั่ง แล้วขึ้นสะพานลอยอีกรอบกลับมารอรถไฟ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ทำให้ต้องนำเศษไม้มาต่อกันเป็นสะพานเพื่อปีนขึ้นชานชาลาแทนการเดินขึ้นสะพานลอย
จากการสอบถามแหล่งข่าวของการรถไฟฯ เปิดเผยว่า “เหตุที่เปิดใช้งานฝั่งเดียวเนื่องจากพนักงานที่ให้บริการมีไม่เพียงพอ ถ้าเปิดใช้สถานีทั้งสองแห่งพร้อมกัน ก็จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างไม่มีความจำเป็น ทำให้ชาวบ้านมีความสงสัยว่า ทำไมต้องก่อสร้างที่จำหน่ายตั๋วรถไฟทั้ง 2 ด้านของสถานีให้เปลืองงบประมาณภาษีของประชาชนด้ว”
“อีกทั้ง สถานีรถไฟเมืองคงตามเอกสารการก่อสร้าง ก็ออกแบบให้เป็นสถานีขนาดใหญ่ที่มีชานชาลาที่ยาวมาก ประมาณ 500-600 เมตร ทั้งที่ความจริง ขบวนรถไฟมีความยาวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งสวนทางกับผู้ใช้บริการที่มีปริมาณไม่มากนัก เพราะเป็นเพียงสถานีระดับอำเภอ จึงทำให้ชาวบ้านยิ่งเกิดความสงสัยมากขึ้น ว่าจะก่อสร้างให้ใหญ่โตไปทำไมสิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ”
และเมื่อสอบถาม นายฉัตรณรงค์ คงบารมี ผู้ใช้บริการโดยสารรถไฟไปทำงานเป็นประจำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 13 ปี เปิดเผยว่า “เห็นการเปลี่ยนแปลงของรถไฟไทยก็รู้สึกดีใจ แต่ก็สงสัยว่า เหตุใดการรถไฟสร้างห้องจำหน่ายตั๋วแล้วไม่เปิดใช้งาน ตนมีบ้านอยู่ฝั่งตลาดเมืองคงจะต้องขึ้นสะพายลอยเพื่อมาซื้อตั๋วฝั่งตรงข้าม แล้วต้องขึ้นสะพานลอยย้อนกลับอีกรอบเพื่อไปรอขึ้นรถ”
“ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไรเพราะร่างกายยังแข็งแรง ออกกำลังกายประจำ แต่รู้สึกสงสารผู้สูงอายุกับผู้พิการที่เดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหว หากจะใช้ทางลาดที่หัวชานชาลา ก็ต้องเดินไปอีกค่อนข้างไกล ตากแดดตากฝนไปไม่มีหลังคาคลุมและไม่มีเครื่องมือควบคุมความปลอดภัย จึงอยากวิงวอนให้การรถไฟฯ เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ใช้บริการเป็นประจำด้วย”