สรุป “เวทีวิสัยทัศน์ร่วมโคราช” เสนอนายกรัฐมนตรี เร่งแก้รัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ มีผู้นําที่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คอร์รัปชัน มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและหลีกเลี่ยงการพูดจากระทบถึงสถาบัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับภาคประชาสังคมในจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดเวทีในการพูดคุยตามแนวทางสันติวิธี เพื่อเป็นการป้องกันความขัดแย้งทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ให้แพร่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น โดยมี ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล (มูลนิธิ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน Friedrich Naumann Foundation ) และดร.ชลัท ประเทืองรัตนา(สำนักสันติวิธี พระปกเกล้า) เป็นผู้ดำเนินรายการจนได้ข้อสรุป และ คนโคราชที่คิดต่างกว่า 40 ชีวิตที่มาร่วมหาทางออกประเทศไทยร่วมกัน

“หมอโจ้”เภสัชกรจักริน เชิดฉาย ประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราช เปิดเผยว่า “ปัจจุบันสังคมไทยเกิดความขัดแย้งกันรุนแรง เราก็มองว่าน่าจะมีการหาทางออกร่วมกัน โดยมีผู้เห็นต่างทั้งวัย ประสบการณ์ ความคิดมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะทุกความขัดแย้งจะมีทางออกก็ต่อเมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยคุยกัน”

“จึงคุยกับอธิการบดี ม.ราชภัฏโคราช เชิญคนเห็นต่างหาทางออกร่วมของคนโคราช เครือข่ายวิสัยทัศน์ร่วมโคราช ประกอบด้วย ภาคเอกชน ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา สื่อมวลชน การเมือง และตัวแทนนักเรียนนักศึกษา ได้มีการพูดคุยกันและรับฟังความต้องการและความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมถึงการค้นหาทางออกที่สร้างสรรค์และสันติ”

เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “จากการพูดคุยได้ข้อสรุปร่วมกันหลายประการ ดังนี้ 1.เครือข่ายวิสัยทัศน์ร่วมโคราช มีความเป็นห่วงในสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรงในสังคม”

“เครือข่ายอยากเห็นคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีผู้นําที่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คอร์รัปชัน มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และอยากเห็นประเทศไทยมีความเจริญเติบโตก้าวหน้า และอยากเห็นการหลีกเลี่ยงการพูดจากระทบถึงสถาบันที่เป็นที่เคารพของคนไทย”

“ทางออกของประเทศไทยร่วมกัน เครือข่ายมีข้อเสนอดังนี้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดย การสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการปรองดองเพื่อเจรจาหาทางออกและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือพูดจากระทบความรู้สึกซึ่งกันและกัน”

เภสัชกรจักริน กล่าวต่อว่า “สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นธรรม โดยการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เช่น มาตรา 256 , มาตรา 269 และ มาตรา 272 โดยใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคส่วนต่างๆ จากนั้นยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ต่อไป”

“และเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันและรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องโดยให้สถาบันการศึกษาเป็นพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกในระดับจังหวัด” เภสัชกรจักริน กล่าว