การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สรุปแบบรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองโคราชแล้วเริ่มสร้างสิ้นปี 2563 ยกระดับทางรถไฟตั้งแต่ลอดสะพานถนนเลี่ยงเมืองถึงสถานีจิระ ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร พร้อมเปิดไทม์ไลน์รื้อ“สะพานสีมาธานี”สร้างทางลอดแห่งแรกโคราช ผุด 4 แยกวงเวียนใหม่ผ่านถนนมิตรภาพ-ถนนสืบศิริ-ถนนเลียบนคร ทั้งโปรเจ็กต์เสร็จใน 44 เดือน

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.63 จังหวัดนครราชสีมา โดย ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ โครงการระบบขนส่งมวนชนจังหวัดนครราชสีมา “รถไฟฟ้ารางเบา LRT” และเผยการออกแบบก่อสร้าง “อุโมงค์ทางลอดรถไฟทางคู่บริเวณสะพานสีมาธานี, การสร้างทางเบี่ยงชั่วคราวระดับดินข้ามทางรถไฟ, วิธีรื้อสะพานสีมาธานี และแนวทางจัดการระบบจราจรช่วงก่อสร้าง” โดยประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “จากการประชุมกับผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการออกแบบก่อสร้างทางลอดรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (สัญญาที่ 2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ) ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟสีมาธานี ตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”

“ซึ่งเห็นชอบให้ รฟท.ยกระดับทางรถไฟตั้งแต่ลอดสะพานถนนเลี่ยงเมืองและสิ้นสุดที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ รวมระยะทาง 5.4 กิโลเมตร โดยรื้อสะพานออกและก่อสร้างทางลอด ก่อนรื้อถอนสะพานให้จัดทำทางเบี่ยงชั่วคราวระดับดินข้ามทางรถไฟทั้งขาเข้าและขาออกข้างละ 3 ช่องทางจราจรให้แล้วเสร็จก่อนและกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี”

“การออกแบบเน้นลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตทุกมิติและการขยายตัวของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตของชาวโคราช รวมทั้งความเป็นไปได้ของหลักวิศวกรรมก่อสร้างและอยู่ในกรอบวงเงินของคณะรัฐมนตรี (ครม.)”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “เบื้องต้น เป็นรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางลอดลดระดับตามแนวถนนมิตรภาพ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 144 จำนวน 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ความยาวทางลอด 780 เมตร โดยมีจุดเริ่มต้นห่างจากทางรถไฟประมาณ 500 เมตร และสิ้นสุดฝั่งในเมืองที่ระยะประมาณ 280 เมตรจากทางรถไฟ”

“ส่วนด้านบนมีถนนด้านข้างและที่จุดตัดทางรถไฟออกแบบเป็นวงเวียนเชื่อมโยงการเดินทางถนนมิตรภาพ ถนนสืบศิริ ถนนเลียบนคร พร้อมงานระบบระบายน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง และปรับเลื่อนสถานีรถไฟนครราชสีมา จากจุดเดิมประมาณ 140 เมตร และสถานีชุมทางถนนจิระประมาณ 300-400 เมตร”

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า “ทั้งนี้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับระบบระบายน้ำในทางลอด โดยติดตั้งบ่อพักและรางน้ำรูปตัวยู เพื่อระบายน้ำจากถนนไปสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ และเชื่อมต่อกับระบบระบายน้ำของรถไฟทางคู่และระบบสูบจะทำงานช่วงระยะเวลาฝนตกสูงสุดประมาณ 20-30 นาที สามารถระบายน้ำได้ทัน”

“ส่วนทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านหลังจวนผู้ว่าฯ ได้กำหนดความสูงกว่า 5 เมตร ทำให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดข้ามได้ เริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2563 รวมระยะเวลาดำเนินการจนแล้วเสร็จทั้งโครงการ และเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบประมาณ 44 เดือน” นายวิเชียร กล่าว