นักธุรกิจโคราชรวมพลังฟื้นชีพหายนะจากฤทธิ์ไวรัสโควิด-19 เสนอฟื้นฟูผู้ประกอบการและเศรษฐกิจเร่งด่วน! “หอการค้าโคราช”หารือภาครัฐ เอกชนตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ” เสนอ 6 มาตรการกลับมาเกิดใหม่!

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมหารือการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 โดยมีนายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมาเป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการร่วมประชุมหาแนวทางในการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการ

ก่อนหน้านี้ “หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา” ได้นำเสนอให้จังหวัดร่วมกับภาคเอกชนเร่ง ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความร้อนในทุกเรื่อง ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มอบหมายให้ นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา เป็นประธานศูนย์ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ทันที และมีพาณิชย์จังหวัด สาธารณสุข ศูนย์การค้า สภาอุตสาหกรรม คลังจังหวัด ชมรมธนาคาร ผู้ประกอบการอีกหลายรายร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

จากการประชุมหารือได้สรุปร่างมาตรการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูไว้ 6 ด้านดังนี้

ด้านเงินทุน มาตรการการชำระคืนเงินกู้ Soft Loan, การจ่ายเงินช่วยเหลือล่าช้า เช่น เงินประกันสังคม, หลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ของแต่ละธนาคารแตกต่างกัน ไม่ครอบคลุมประเภทผู้ประกอบการ, ขอให้พักชำระค่าดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปี, วงเงินกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทยให้กระจายไปแต่ละแบงค์ตามพอร์ทของลูกค้า, หาแหล่งเงินกู้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหม่ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, ให้ขยายวงเงินกู้บ้านจาก 3 ล้าน เป็นไม่กำหนดวงเงิน และขอให้ผ่อนผันการชำระหนี้ของผู้ประกอบการรายย่อย กรณีผิดนัดชำระ

ด้านการตลาด การเตรียมการด้านงบประมาณจังหวัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด โดยการจัดกิจการส่งเสริมการตลาดประเภทต่าง ๆ เช่น ตลาดสินค้าเกษตร ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้าภายในจังหวัด, การเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้าง, การบริหารจัดการปริมาณข้าวหอมมะลิให้มีความเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิตามความต้องการข้าวหอมมะลิของตลาดต่างประเทศที่มากขึ้น, ด้านการขนส่ง ติดหลักเกณฑ์ตามมาตรการป้องกันโควิค ทำให้การขนส่งไปยังพื้นที่ปลายทางล่าช้า, การเปิดพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตร /สินค้าOTOP /ผลิตภัณฑ์ชุมชนภายในจังหวัด และ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ผู้บริโภครับทราบ

ด้านการท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ บริการ สินค้า และส่วนที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย, ส่งเสริมให้จังหวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, ให้โรงแรมในจังหวัดสามารถจัดการประชุมสัมมนาได้ แต่ต้องเป็นจังหวัดในจังหวัดเท่านั้นทไม่รับคนจากจังหวัดอื่นมาประชุมในพื้นที่, ขอให้เตรียมการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม ขายของห้อง ขายแพ็คเกจล่วงหน้า

การกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมโดยเตรียมกิจกรรมด้านต่างๆ, ขอให้บุคลากรภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการภายในจังหวัด, สนับสนุนสินค้าภายในจังหวัด เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น หมี่โคราช ฯลฯ, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมสำหรับการประกอบการค้าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย, การผ่อนคลายมาตรการภายในจังหวัด, การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการของรัฐ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การจำทำโครงการเพื่อขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัด และ ททท.

การเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ การดำเนินโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ควรใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาครัฐที่มีอยู่แล้ว, มาตรการช่วยเหลือด้านการสื่อสารของ กสทช และไปรษณีย์ ไม่ควรต้องลงทะเบียน แต่ควรเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ทุกคน

ด้านอื่นๆทั่วไป การจำกัดบุคคลภายนอกในการเดินทางเข้าจังหวัด โดยอนุญาตเป็นรายบุคคล, การงดจัดกิจกรรมที่มีจำนวนคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น งานวิ่ง, การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด ต้องมีการลงทะเบียน การตรวจเช็ค, บุคคลที่เดินทางข้ามจังหวัด ต้องมีการตรวจคัดกรอง และ มีการออกตรวจประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

โดยร่างมาตรการทั้ง 6 ด้านนี้ จะเร่งสรุปข้อเสนอแล้วนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน พร้อมทั้งทำเรื่องส่งไปยังส่วนกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ภายในสัปดาห์หน้า