“มทส.โคราช” ประกาศเจตนารมณ์ “SUT ZERO WASTE” สู่การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว Green University เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กำจัดขยะ 1,300 ตัน/ปีนำหลัก 3R ได้แก่ รีดิวซ์, รียูส และ รีไซเคิล มาใช้จัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดกิจกรรม “SUT Zero Waste Day” ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2563  เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาคม มทส. ได้มีส่วนร่วมลดการสร้างขยะต้นทาง และสร้างการตระหนักรู้ด้าน Zero Waste ขยะเป็นศูนย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยวันนี้ได้ “ประกาศเจตนารมณ์มหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อย่างพร้อมเพียงกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายเขียวสะอาด และพัฒนามหาวิทยาลัยให้นำสมัย เป็นธรรม และสร้างระบบนิเวศแห่งคุณภาพ แต่เนื่องจากปัจจุบัน ประชากรภายในมหาวิทยาลัยมีกว่า 20,000 คน ซึ่งส่งผลให้เกิดผลิตผลขยะมากถึง 1,300 ตันต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการจัดการขยะปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม”

“โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าขยะจะล้น มทส. ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการขยะแบบเบ็ดเสร็จ โดยนำหลัก 3R ได้แก่ รีดิวซ์ (Reduce), รียูส (Reuse) และ รีไซเคิล (Recycle) มาใช้จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางแบบครบวงจรเพื่อลดปริมาณขยะลงให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังได้กำหนด 7 แนวทางขับเคลื่อนงาน”

ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวอีกว่า “ตลอด 3 ปีตั้งแต่พ.ศ.2562 – 2564 ต้องดำเนินการเร่งด่วน เรื่องการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งปัจจุบันร้านสะดวกซื้อภายในมหาวิทยาลัย ได้งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว 100% ซึ่งสามารถลดการใช้ได้ 1.2 ล้านใบต่อปี รวมไปถึง จะต้องลดการใช้แก้วพลาสติกให้ได้ร้อยละ 50 และจัดรณรงค์ประชุม Green Meeting, จัดการขยะอินทรีย์ที่แหล่งกำเนิด, จัดการขยะรีไซเคิลในรูปแบบของธนาคารวัสดุรีไซเคิลและส่งเสริมการคัดแยกขยะต้นทาง รวมไปถึง ปรับปรุงพัฒนาถังขยะแยกประเภทและระบบจัดเก็บขยะภายในอาคาร กับส่งเสริมให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย”

“ซึ่งเป้าหมายของมหาวิทยาลัยสู่ Zero Waste ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะต้องช่วยกันลดปริมาณขยะที่เคยมีอยู่กว่า 1,300 ตันต่อปี ลงให้ได้ร้อยละ 20 รวมทั้ง เพิ่มปริมาณการรวบรวมขยะรีไซเคิลให้ได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2560 และที่สำคัญ ต้องสร้างพฤติกรรมทิ้งขยะอย่างถูกประเภท ถูกถัง ให้ได้ร้อยละ 80  โดยให้ประชากรบุคลากรและนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง ด้วยการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและลดใช้แก้วทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจน ร่วมกันสนับสนุนในเชิงกายภาพเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป” ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว