“ผู้ว่าโคราช” มอบ “เครื่องกระตุกหัวใจ(AED)” ให้สวนน้ำ “บุ่งตาหลั่ว” แล้ว 10 เครื่องติดตั้งตลอดเส้นทาง 3.2 ก.ม.ห่าง 300 เมตรต่อเครื่อง และเป็นสวนสาธารณะออกกำลังกายแห่งแรกในประเทศ ที่มีเครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉิน หลังเปิดรับบริจาค พร้อมเปิดคอร์สสอนที่บุ่งตาหลั่วให้ใช้เครื่องเป็นทุกวันพุธที่ 2 และ 4 ของเดือน

เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีมอบ “เครื่องกระตุกหัวใจ ไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ AED” พร้อมนายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมส่งมอบ ณ ลานนวมินทร์ สวนสาธารณะสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว ร.9 ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา

คุณสรภัส เพชรอรุณ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “โครงการเครื่องกระตุกหัวใจ(AED) เพื่อมอบให้กับสวนน้ำเฉลิมพระเกียรติบุ่งตาหลั่ว 10 เครื่อง เป็นโครงการจากแนวคิดของ นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ผู้ริเริ่มโครงการ เพราะการออกกำลังกายในโคราชกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก แต่ที่ผ่านได้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น อย่างกรณีที่คนมาออกกำลังกายเกิดอาการโรคหัวใจหยุดเต้นเฉียบพัน ทำให้หยุดหายใจขึ้นมา”

“ที่บุ่งตาหลั่วได้เกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างกรณีศึกษาจาก ผอ.รพ.หนองบุญมาก มาเกิดเหตุหัวใจหยุดเต้นเฉียบพัน ทางนพ.สาธารณสุขจังหวัดฯ เล็งเห็นว่า ปัจจุบันมีประชาชนมาออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราต้องมาดูแลสุขภาพประชาชนด้วยในเบื้องต้นที่สามารถช่วยเหลือกันได้ ให้ทำเป็นนโยบายเลย จึงเกิดโครงการ “เติมบุญกระตุกหัวใจ” ขึ้นมา”

“โครงการเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ก็จะมีชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ร่วมกับ มณฑลทหารบก และกองทัพภาคที่2 พร้อมด้วยมูลนิธิฯหลักๆอย่าง มูลนิธิพุทธธรรม31 มูลนิธิสว่างเมตตาฯ ร่วมกันทำโครงการนี้ขึ้นมา ถ้านับถึงวันนี้ก็ 2 เดือนกว่าแล้วโดยให้ประชาชนที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคหรือซื้อเสื้อที่มี “หมอภาคย์” เป็นพรีเซ็นเตอร์ก็จะเรียกว่า “เสื้อหมอภาคย์”  เพื่อนำเงินไปซื้อ “เครื่องกระตุกหัวใจ(AED)” มอบให้สวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ “บุ่งตาหลั่ว” จำนวน 10 เครื่อง”

คุณสรภัส กล่าวต่อว่า “ซึ่งขณะนี้โครงการได้รับบริจาคครบจำนวนที่สามารถซื้อเครื่องกระตุกหัวใจ(AED) ได้แล้ว ซึ่งราคาเครื่องอยู่ประมาณ 50,000-60,000 บาทยังไม่รวมตู้ติดตั้ง ซึ่งตู้จะคล้ายกับตู้โทรศัพท์สาธารณะ จะติดตั้งบริเวณรอบบุ่งตาหลั่ว 10 จุดแต่ละจุดจะห่างกันประมาณ 300 เมตร ครบจำนวน 1 รอบของบุ่งพอดี”

“โดยตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ชาวโคราชให้ความร่วมมืออย่างมาก ทำให้กองทุนฯบรรลุจุดประสงค์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภายใน 2 เดือนกว่าเท่านั้น และสถานที่ออกกำลังกายบุ่งตาหลั่ว แห่งนี้จะเป็นแห่งแรกในประเทศที่ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจ(AED) อีกด้วย”

คุณสรภัส กล่าวอีกว่า “หลังจากมอบเครื่องกระตุกหัวใจ ให้บุ่งตาหลั่วแล้ว ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ ได้เดินหน้าโครงการต่อไปเพื่อมอบให้สถานที่ออกกำลังกายสำคัญของโคราช เช่น สนามกีฬา 80 พรรษาเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และสนามกีฬาเทศบาลฯ และอีกหลายๆแห่งอีกด้วย โดยจะขอความร่วมมือจากห้างใหญ่ๆในโคราช เช่น เดอะมอลล์ เซ็นทรัล เทอร์มินอล คลังพลาซ่าฯลฯ เพื่อขอตั้งตู้รับบริจาคต่อไป”

“สำหรับเดือนตุลาคมเป็นต้นไป เรายังได้เปิด “อบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ(CPR) ขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน” และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ(AED) โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลมหาราช และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ มาสอนเป็นประจำทุกวันพุธที่ 2 และวันพุธที่ 4 ของเดือน อบรมทั้งเจ้าหน้าที่บุ่งตาหลั่ว และประชาชนที่มาออกกำลังกาย ให้สามารถเรียนรู้และใช้เครื่องเป็น พร้อมการทำ CPR เบื้องต้นด้วย ไม่ใช่ซื้อเครื่องมาแล้วเจ้าหน้าที่และประชาชนใช้ไม่เป็นก็จะช่วยเหลือไม่ทัน” คุณสรภัส กล่าวทิ้งท้าย