ของจริงมาแล้ว! ล่าสุด “อาจารย์เฉลิมชัย”ออกโรงปกป้อง นศ.ม.ราชภัฎโคราชวาดภาพ “พระอุลตร้าแมน” ไม่ได้เอาเศียรไปใส่กับซาตาน คนชั่วอย่าน้ำเน่าด่าคนคิดต่างผิดตลอด วันนี้เด็กยังโดนเพราะไอเดียสร้างสรรค์ แล้วต่อไปใครจะกล้าคิดใหม่

หลังจากเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัช ตราชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางมากราบพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ที่วัดบึงพระอารามหลวง จังหวัดนครราชสีมา โดยนำนักศึกษาหญิงเจ้าของผลงานภาพวาด และอาจารย์ผู้สอน เข้ากราบขอขมาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถฯ และกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ในนามคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา ในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่วาดภาพ “พระอุลตร้าแมน” ทำให้เกิดกระแสถึงความไม่เหมาะสม และเผยแพร่ในสื่อโซเชียลดังไปทั้งประเทศ

ล่าสุด..อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ได้กล่าวถึงเรื่องนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่วาดภาพผลงานศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน แล้วนำออกแสดงในงานเต๊อะเติ๋น ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฟซบุ๊กชื่อ นรินทร ทามาส ได้เผยแพร่ อ.เฉลิมชัยพูดถึงกรณีภาพพระอุลตร้าแมนว่า

“ตนรู้สึกเศร้าใจที่เห็นคนออกมาด่านักศึกษาคนนี้ บ้านเมืองเรามักจะเป็นแบบนี้กันตลอด เมื่อเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ มีการเปลี่ยนแปลงตามลักษณะของคนรุ่นใหม่ มีความกล้าหาญ ก็มักจะถูกด่าจนทำให้เด็กกลัวแล้วทำอะไรไม่ได้เลย”

“ปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองเราแย่ลง คือการไปลอกเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่างจากคนอื่น แล้วทำให้คนของเราคิดไม่เป็น และไม่กล้าคิดต่าง จึงไม่เจริญรุ่งเรือง แท้ที่จริงแล้วการคิดใหม่-สร้างใหม่ถือเป็นสิ่งที่สุดยอด ดังนั้นตนจึงอยากจะบอกว่านักศึกษาที่เขียนรูปพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เขาเขียนตามความรู้สึกนึกคิดว่าอุลตร้าแมนเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้เขา และเขาเห็นว่ามีความเป็นฮีโร่ มีคุณงามความดี และเป็นผู้ปกป้องรักษาโลกนี้เอาไว้”

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า “โดยส่วนตัวตนเห็นว่าเขาอาจจะรู้จักอุลตร้าแมนมากกว่าพระพุทธเสียอีก เด็กจึงแทนที่ใบหน้าด้วยอุลตร้าแมนที่เขาเห็นว่ามีความเก่งกล้าสามารถแต่เศียรยังคงเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อบอกถึงคุณงามความดีแล้วให้คนรุ่นใหม่เหมือนเขาได้เห็นถึงความแปลกใหม่”

“เขาไม่ได้เอาเศียรไปใส่กับซาตาน คนชั่ว หรือตัวละครในหนังที่เป็นคนชั่ว แต่ใส่กับตัวละครที่ดีที่สุด ปกปักรักษาโลก เป็นคนมีคุณธรรมศีลธรรม อย่าไปมองว่าลบหลู่ศาสนา บ้าบอคอแตก น้ำเน่าเกินไป จนเด็กต้องกราบขอโทษ ทำให้เด็กทั้งประเทศสั่นไหว ต่อไปถ้าผู้ใหญ่ด่าๆ อย่างนี้ เขาก็จะไม่กล้าทำอะไรอีก และลอกๆ ไป ถามว่าเด็กที่วาดรูปพระพุทธเจ้าเหมือนมากมีกี่คน มีอยู่มากมาย แต่เขากล้าแหกคอกกันไหม ตอบว่าเขาไม่กล้าทำ แต่คนนี้กล้าและไม่ผิด เพราะไปอยู่ในอุลตร้าแมน ซึ่งเป็นตัวละครดีที่สุดตามสติปัญญาของเด็ก”

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า “ตนเจอปัญหาบ้านเมืองเราตั้งแต่ตนยังเป็นหนุ่ม เคยพบเหตุการณ์ภาพวาดของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ที่เรียนปรัชญาพระพุทธศาสนาถูกกรีดทำลาย เพราะไปเข้าใจกันในทำนองว่าลบหลู่ศาสนา จนนักปราชญ์อย่างอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ต้องออกมาอธิบายให้เข้าใจว่า เป็นศิลปะที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์”

“ต่อมาก็มีอาจารย์เขียนภาพเปรตเป็นพระภิกษุที่ชั่ว พระภิกษุปลอม เป็นลักษณะการยกย่องพระภิกษุที่ดี และด่าพระภิกษุที่ไม่ดี เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรต รวมทั้งไม่ได้ลบหลู่คนดี แต่ปรากฎว่ากลับมีการเดินขบวนด่ากันวุ่นวาย สุดท้ายคณะกรรมการตัดสินงานศิลปะกรรมแห่งชาติ ก็ให้รางวัลภาพนี้ได้ที่ 1 มีการนำภาพไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ และคนซื้อไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพราะศิลปะต้องมีจินตนาการไม่ได้ลบหลู่ หากว่าเรามองเนื้อแท้และไม่ได้มองแค่เปลือกนอก”

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวในตอนท้ายว่า “กรณีของอาจารย์ถวัลย์ อาจารย์คนที่วาดรูปเปรตห่างกัน 40 ปีและ 20 ปี ตามลำดับ กระทั่งตอนนี้ คือกรณีเด็กนักศึกษาที่วาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ก็ถือว่าเหมือนกัน คือเป็นคนดีทั้งหมด ดังนั้นพวกเราอย่ามองกันที่เปลือกนอก และไปด่าเขาว่าเป็นคนลบหลู่ใดๆ รวมทั้งอย่าไปมองว่าความแตกต่างคือความผิด หรือผิดจากตัวเองแล้วต้องด่าลูกเดียว แต่เราควรยกย่องคนไทยด้วยกัน ถ้าเราไม่รู้อย่าไปด่าให้เงียบไว้ เพราะเมื่อมองเหตุการณ์เมื่อ 40 ปี และ 20 ปีก่อน จนถึงกรณีนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 คนไม่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาเสียหายไป”

“สุดท้ายตนขอบอกว่าใครจะด่าตนก็ด่าไป แต่อย่าไปด่าเด็ก สงสารเขา เด็กไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้เอาเศียรพระพุทธรูปไปใส่กับเปรต สัตว์นรกหรือคนชั่ว หรือตัวละครที่ชั่วๆ รวมทั้งขอสื่อไปถึงเด็กนักศึกษาที่วาดภาพนี้ด้วยว่า อย่าท้อและขอให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่อไปด้วย”