“ผู้ว่าโคราช” นำคณะดูงานพัฒนา “ท่าเรือบกลาดกระบัง” หวังเชื่อมโยงผู้ประกอบการและสายเดินเรือ เข้าร่วมพัฒนา “ท่าเรือบกโคราช” มูลค่าลงทุน 7,000 ล้าน ตั้งงบ 38 ล้านบาท ร่าง TOR เสนอรัฐบาลก่อนปี63 มั่นใจสินค้าเกษตรอีสานมีปริมาณส่งออกสูง สร้างแรงจูงใจต่อผู้ประกอบการ

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัด, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด, นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัด, นายจรูญ จงไกรจักร ผู้แทนขนส่งจังหวัด, ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสื่อมวลชน เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาท่าเรือบก ที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ICD ลาดกระบัง กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการนำมาปรับรูปแบบท่าเรือบกให้เข้ากับบริบทของจังหวัดนครราชสีมา

พร้อมกันนี้ ได้เข้าหารือร่วมกับผู้ประกอบการสายการเดินเรือ หวังเชิญชวนผู้ประกอบการสายเดินเรือมาร่วมลงทุนพัฒนาการบริการพื้นที่ท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายนฤชา เชาวน์ดี หัวหน้ากองปฏิบัติการไอซีดี ลาดกระบัง ให้การต้อนรับ พร้อมกับผู้ประกอบการ 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยามซอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS), บริษัท อิสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO), บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT), บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA), บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และบริษัท เอ็น.วาย.เค.ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD) รวมถึงบริษัทสายเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส เข้าร่วมพูดคุย

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การนำคณะจากภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ มาศึกษาดูงานที่ ICD ลาดกระบังครั้งนี้ เป็นพื้นที่ที่จะนำไปเป็นต้นแบบจัดสร้าง Dry Port หรือท่าเรือบกที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะเป็น ICD ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วกว่า 24 ปี”

“ส่วนท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเขียนข้อเสนอ หรือ TOR เพื่อหาผู้ที่สนใจมาร่วมลงทุนกับทางจังหวัด และจะต้องหางบประมาณมาจ้างบริษัทให้เขียน TOR ให้ เมื่อเขียนเสร็จต้องเสนอไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งเราจะใช้ข้อเสนอตรงนี้หาผู้ร่วมทุน แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ”

“ส่วนการพูดคุยกับกับสายเรือและบริษัทผู้ประกอบการทั้ง 6 บริษัท ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้คำแนะนำที่สำคัญหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องสินค้าที่จะมาใช้ที่ท่าเรือบกขนผ่านตู้คอนเทนเนอร์ จะใช้ระบบทางรางหรือระบบขนส่งทางรถยนต์ ก็ต้องดูว่าอะไรถูกที่สุด ซึ่งหากขนตู้คอนเทนเนอร์ไปท่าเรือโดยทางรถไฟถูกกว่ารถยนต์ ผู้ประกอบการก็จะต้องเลือกไปที่รถไฟแน่นอน แต่จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะขาเข้าควรมีจำนวนมากพอด้วย ฉะนั้นหากเราสามารถรวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ที่จะไปจังหวัดนครราชสีมาให้เดินทางโดยรถไฟ แล้วเข้ามาที่ท่าเรือ ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ถูกลง”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “สำหรับการจัดทำ TOR ขณะนี้รองบประมาณจะกระทรวงคมนาคม ถ้าได้รับงบประมาณในปี 2563 ก็จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เพราะฉะนั้นช่วงสิ้นปี 2563 จะต้องนำ TOR ส่งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ ใช้เวลาประมาณครึ่งปี”

“และเมื่อมีมติเห็นชอบแล้ว ถึงจะประกาศหาตัวผู้ร่วมทุน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ โดยจะสอดรับกับแผนดำเนินการรถไฟความเร็วสูง ที่ทางการศึกษาวิจัยเห็นว่า เราควรจะเปิดท่าเรือบกที่นครราชสีมาในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2562อาจจะเริ่มลงมือสร้าง ส่วนงบประมาณที่ขอไป ขอไว้อยู่ที่ 38 ล้านบาท และต้องเร่งให้ได้ในปี 2563 หากช้ากว่านี้ก็จะทำให้ช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้” ผู้ว่าโคราช กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นศูนย์ท่าเรือบกขนาดกลาง มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 200,000 ตู้ต่อปีขึ้นไป บนเนื้อที่ 1,800 ไร่ โดยมีค่าดำเนินการดังนี้ ค่าชดเชยที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง 3,140 ล้านบาท, ค่าปรับสภาพดิน 740 ล้านบาท, ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท, ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท, ค่าอุปกรณ์  800 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 70 ล้านบาท รวม 7,000 ล้านบาท (ต้นทุนราคาปี 2561) ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ต่อปี 62 ล้านบาท โดยมีเวลาออกแบบก่อสร้างและติดตั้งระบบ ตั้งแต่ปี 2562-2567 ก่อนจะเปิดใช้ได้จริงปี 2568