รำลึกโศกนาฏกรรมที่ดังสนั่นไปทั่วโลกเกิดขึ้นที่กลางใจเมืองโคราช ย้อนหลังไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536  เมื่อโรงแรมชื่อดังโคราชในสมัยนั้น หลังจากเปลี่ยนชื่อจาก “โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา” รีโนเวทสร้างอาคารเพิ่มจาก 3 ชั้นเป็น 6 ชั้น พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” โรงแรมหรูครบวงจรที่มีสถานบันเทิงครบครัน ได้เกิดถล่มลงมาทั้งตึก แต่ยังค้างอาคารที่ก่อสร้างใหม่ไม่ถล่มลงมาด้วย

หากย้อนกลับไปเมื่อ วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ได้เกิดโศกนาฏกรรมอาคาร โรงแรมรอยัลพลาซ่า กลางเมืองโคราช ถล่ม ลงมา เมื่อเวลา 10.12 น.เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน บาดเจ็บ 227 คน

ขณะเกิดเหตุมีการอบรมสัมมนาซึ่งมีผู้อยู่ในอาคารทั้งหมด 379 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 117 คน กลุ่มพนักงานบริษัทเชลล์ประเทศไทยจำกัด จำนวน 59 คน กลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมจำนวน 78 คน และกลุ่มพนักงานโรงแรม จำนวน 125 คน

ทั้งนี้ผู้บริหารโรงแรมรอยัลพลาซ่า มี นายวิทยา วงศวัชรกาญจน์ เป็นผู้จัดการทั่วไป แต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนสาเหตุของตึกถล่มเกิดจากการที่ โรงแรมรอยัลพลาซ่าได้ปรับปรุงใหม่และมีการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็นอาคาร 6 ชั้น ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน เมื่อเสาที่ตั้งอยู่บนคานแบกรับน้ำหนักมากเกินไป จึงทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้น 2 ทำให้โครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตามและส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด

สถานที่ตั้งอดีตโรงแรมยอรัลพลาซ่า ที่ถล่มเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินของกลุ่มศิลาปาร์ค เจ้าของโรงแรมดิไอยราโคราช

ซึ่งในวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปี ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต นำโดย นายชวลิต ตันฑเศรณีวัฒน์ ที่เสียขาทั้งสองข้างจากตึกถล่ม ได้รวมตัวกัน ทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำทุกปี ก็เพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มอีกด้วย และยังเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม โรงแรมยอรัลพลาซ่าถล่ม ในครั้งนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน

ขณะที่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆได้สิ้นสุดคดีเมื่อปลายปี 2543  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นจำเลยที่1 ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลจากคำพิพากษาเพราะ

ผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างโดยได้ว่าจ้างวิศวกรคือนายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรม ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ดังนั้นศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ในส่วนคดีแพ่งนั้นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเตล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทรอยัลพลาซ่าโฮเตลจำกัด ได้ดำเนินการประนีประนอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เคราะห์ร้ายทุกราย

แต่สำหรับเหตุการณ์อาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม เมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา จะเป็นอุทาหรณ์และกลายเป็นคดีตัวอย่างให้กับ เจ้าของอาคารสูง รวมไปถึงผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นบทเรียนเป็นอย่างดี ถึงการดำเนินการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตแบบแปลนก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามหลัก พรบ.ควบคุมอาคาร

“โรงแรมรอยัลพลาซ่า”ถล่มเป็นเหตุการณ์ “ซากตึกฝังชีวิต” ที่ชาวโคราชมิอาจลืมได้!!!