จัดต่อเนื่องปีที่2 งานมหาสงกรานต์โคราช “วัดพระนารายณ์” อัญเชิญพระคันธารราษฎร์ หรือ “พระปางขอฝน” พระพุทธรูปสำคัญจากวัดพระนารายณ์ แห่ลอดประตูชุมพล เปิดโอกาสให้ประชาชนได้จับชายผ้าพระ เดินตามขบวนกลับไปยังวัด ในวันสงกรานต์ 13 เมษายนนี้ หลังจากประเพณีนี้ได้ห่างหายไปตั้งแต่ปี 2522 หรือกว่า 4 ทศวรรษเมื่อ 40 ปีก่อน
“จังหวัดนครราชสีมา” โดย ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ร่วมกับ “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” และเทศบาลนครนครราชสีมา ฟื้นประเพณีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์” แห่ลอดประตูชุมพล ในวันสงกรานต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กราบไหว้ และสรงน้ำพระ เนื่องในวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป
โดยขบวนจะเริ่มจาก “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” แห่องค์พระไปยังลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ผ่านถนนจอมพล ถนนประจักษ์ ถนนมหาดไทย และถนนราชดำเนิน เพื่อประกอบพิธีลอดซุ้มประตูชุมพล ก่อนขบวนองค์พระคันธารราษฎร์ จะวกกลับไปยังวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร
ช่วงเที่ยงวัน ที่วัดพระนารายณ์ฯ จัดพิธีสักการะพระทศพลญาณประธานบารมีประจำ ที่พระวิหารหลวง สักการะพระคันธารราษฎร์ โดยพระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา อัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ หรือ พระปางขอฝน” เป็นพระพุทธรูปสำคัญจากวัดพระนารายณ์ ขึ้นสู่ราชรถจัดขบวนแห่ให้ผู้ร่วมงานเดินตาม รอบเมืองตามเส้นทางที่กำหนดลอดซุ้มประตูเมืองให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้ถวายสรงน้ำ กราบไหว้สักการะ บูชา
ซึ่งมีการแสดงและการละเล่นสงกรานต์แบบไทยดั่งเดิม ก่อพระเจดีย์ทราย และรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ถือเป็นการรื้อฟื้นประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อปี พ.ศ.2522 ยุคสมัยเป็นเทศบาลเมืองนครราชสีมา ได้เคยอันเชิญ หลวงพ่อพระคันธารราษฏร์ ให้ชาวโคราชได้สรงน้ำพระ หลังจากนั้นก็ไม่ได้จัดขึ้นมาอีกเลย
รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเชื่อทัศนคติว่าเทศกาลสงกรานต์ของไทย ไม่ได้สำคัญแค่เพียงเล่นสาดน้ำกันเท่านั้น มุ่งหวังให้ประเพณีอันดีงามกลับคืนมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง แล้วสืบสานต่อไปยังคนรุ่นหลัง จัดให้เป็นงานประจำปี สืบต่อไป โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้จับชายผ้าพระ เดินตามขบวนกลับไปยังวัด จากนั้นจะมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้สูงอายุ มีการก่อเจดีย์ทราย ซึ่งถือเป็นประเพณีสงกรานต์ดั่งเดิม ที่ประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ควรสืบสานและอนุรักษ์ไว้
สำหรับประวัติความเป็นมา “พระคันธารราษฎร์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมาขณะนั้น ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมาจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป
กระทั่งเมื่อ วัดพระนารายณ์ได้บูรณะสังขรณ์ปิดทองพระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพลขึ้นมา ซึ่งการลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช
สำหรับ “พระคันธารราษฎร์” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ โดยลงยาสีเหมือนจริง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว เกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศา ทำเป็นรูปก้นหอยเรียง ตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา มีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ทั้งนี้ ประชาชนนิยมกราบไหว้พระคันธารราษฎร์ เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่า “พระขอฝน”