คืบหน้าโปรเจ็กต์เนรมิตพื้นที่ 7 ไร่พลิกโฉมใหม่ “อ่างห้วยยาง” สร้างสตอรี่ใหม่ให้เป็นรูปแบบทะเลห้วยยาง หาดทรายน้ำจืดแลนด์มาร์คใหม่โคราช สตาร์ทอัพสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน ออกกำลังกายและกิจกรรมกีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้คึกคักและได้มาตรฐานทั้งระบบ ล่าสุด อบจ.โคราช นำเครื่องจักรสนับสนุนเต็มที่ เคลียร์พื้นที่ปรับภูมิทัศน์ช่วงรองบประมาณ 30 ล้านบาท เล็งตัดถนนใหม่เชื่อมวัดพระธาตุโป่งดินสอ 1.2 กม.พร้อมเตรียมจัดประกวดตั้งชื่อใหม่อีกด้วย คาดได้ยลโฉมใหม่ปี 2561นี้
หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2561 พลโทสนธยา ศรีเจริญ แม่ทัพน้อยที่ 2 พร้อมด้วย นายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี พร้อมหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญชาวบ้านเขตพื้นที่และโดยรอบ “อ่างห้วยยาง” ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อประชาพิจารณ์ทำความเข้าใจเรื่องนโยบายการปรับปรุงอ่างห้วยยาง โดยงานหลักดำเนินการโดยกองทัพภาคที่2
และเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา แม่ทัพน้อยที่2 และเทศบาลตำบลสุรนารี ระดมอาสาสมัครทั้งจิตอาสา ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษามทส.และทหาร เข้าเคลียร์พื้นที่นำรถแม็กโฮเข้าปรับภูมิทัศน์บริเวณโครงการปรับปรุง “อ่างห้วยยาง” ต.สุรนารี อ.เมือง โคราช ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 7 ไร่โดยแบ่งเป็นที่ดินของ กรมชลประทาน 5 ไร่ 1 งาน และที่ดินของกรมประมง 1ไร่เศษ
สำหรับการเข้าเคลียร์พื้นโครงการปรับปรุงอ่างห้วยยางครั้งนี้ช่วงรองบประมาณเป็นการใช้เครื่องจักรของอบจ.และเทศบาล ต.สุรนารี เป็นการเริ่มต้นปรับภูมิทัศน์ก่อนงบการก่อสร้างกว่า 30 ล้านจะอนุมัติตามขั้นตอน หากได้งบก่อสร้างแล้วสามารถเริ่มก่อสร้างเสร็จภายใน 6 เดือน คาดเปิดให้ประชาชนมาท่องเที่ยว พักผ่อนได้ภายในปี 2561
และนอกจากการพลิกโฉมใหม่อ่างห้วยยางแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะมีการตัดถนนเส้นใหม่เชื่อมระหว่าง “อ่างห้วยยาง” ไปที่ “วัดพระธาตุโป่งดินสอ” ประมาณ 1.2 กิโลเมตรเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนที่มากราบไหว้พระที่วัดเสร็จแล้วก็แวะมาพักผ่อนที่อ่างห้วยยางต่อได้เลย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ได้มอบหมายให้สำนักการช่าง โดย นายธีระชัย เทพนอก ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 2, เทศบาลนครนครราชสีมา, เทศบาลตำบลสุรนารี, ชลประทานนครราชสีมา, ประมงจังหวัดนครราชสีมา, กรมธนารักษ์ เข้าดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ให้เป็นหาดทรายน้ำจืดของโคราช เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา
นายธีระชัย เทพนอก ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ในส่วนของ อบจ.เบื้องต้นทางเราได้สนับสนุนเครื่องจักร ทั้งรถเกรด รถแบคโฮ ได้รับการประสานจากทางนายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี ว่าขอเครื่องมือมาช่วย ทาง อบจ. โดยทางนายกฯอบจ. รต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ก็ไม่ขัดข้อง พร้อมให้ความร่วมมือกับท้องถิ่นก็ได้ส่งเครื่องจักรเข้ามาเคลียร์พื้นที่ และขณะนี้มีโครงการของรัฐบาลที่ให้ใช้ยางพาราในการทำถนน เราเห็นว่าที่จอดรถสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวพักผ่อนตรงนี้ยังขาดอยู่ เราก็เลยเสนอไปทางเทศบาล ถ้ามีโครงการตรงนี้เราก็อยากสนับสนุนในเรื่องถนนยางพารา รวมทั้งถนนที่เข้ามาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ให้สะดวกสบายและปลอดภัย”
“ตอนนี้กำลังสำรวจงบประมาณคร่าวๆ น่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรก ถนนทางเข้ามา ส่วนที่ 2 คือ ลานจอดรถ ซึ่งตรงส่วนนี้ ทางเทศบาลต.สุรนารี ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานไหน เลยคิดว่าทาง อบจ.น่าจะมาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ซึ่งโครงการนี้ต้องทำเรื่องขออนุมัติทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯก่อน เพราะโครงการนี้ยังไม่อยู่ในแผน แต่ในระเบียบใหม่คือสั่งการก็บอกว่า ให้ผู้ว่าสามารถยกเว้นระเบียบได้และนำเข้าสภา คิดว่าสภาก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะอ่างห้วยยางที่นี่เป็นปอดโคราชอีกแห่งหนึ่งที่ยังไม่มีโครงการใหญ่ขนาดนี้ ตนเห็นแล้วยังชอบและต้องชื่นชมเทศบาลต.สุรนารีว่าเป็นไอเดียที่ดีมากๆ”
ด้าน นายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี กล่าวว่า “การพัฒนาพื้นที่โครงการปรับโฉมใหม่ “อ่างห้วยยาง” ตอนนี้ ได้พัฒนาจากตรงพื้นที่เดิม ตอนนี้พัฒนาไป 90 % แล้ว ในเรื่องของการเคลียร์ริ่งพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ ในรูปแบบที่จะสร้างให้สมบูรณ์แบบเลย เป็นรูปแบบที่มีหาดทราย มีต้นมะพร้าว และที่สำหรับนั่งเล่นเพื่อเอาไว้รีแล็กซ์พักผ่อน”
“ส่วนเรื่องถนน ต้องพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ทั้งหมดพร้อมกับอาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อจะใช้เป็นที่พักผ่อน ตอนนี้ทางกองทัพภาคที่ 2 โดยเฉพาะพลโทสนธยา ศรีเจริญ แม่ทัพน้อยที่ 2 และองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ เทศบาลต.สุรนารี พร้อมหน่วยงานองค์กรในตำบลได้มาร่วมไม้ร่วมมือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเราได้จิตอาสาของ อำเภอเมืองและต.สุรนารี มาร่วมกันทำความดีในการพัฒนาอ่างห้วยยาง ให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอีกด้วย”
“สำหรับความคืบหน้าเรื่องการหางบประมาณ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเขียนแบบ แล้วจะส่งไปที่กรมโยธาธิการผังเมือง เพื่อให้กรมโยธาธิการประมาณการ พอได้แบบแปลนพร้อมราคาประมาณการที่จะใช้งบประมาณ ก็จะส่งไปของบประมาณตามช่องทางที่แม่ทัพน้อยฯเสนออยู่”
นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี กล่าวต่อว่า “ในส่วนของ อบจ.และกรมประมงน้ำจืดที่เข้ามาร่วม ตรงนี้ ในส่วนสนับสนุนด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเราก็ของบ และเครื่องมือมาทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลต.สุรนารี และมีกรมประมงมาเพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ 2 ส่วน ที่เราขอใช้ประโยชน์”
“โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นของกรมประมงคือบริเวณลานจอดรถ และอีกส่วนหนึ่งเป็นของกรมชลประทานแต่ในเอกสารที่ขอใช้พื้นที่ เราขอมาเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตถ้าได้งบประมาณมาแล้วก็คงจะหารือว่าจะเป็นในรูปแบบไหนให้ทางกรมชลประทาน และ ทาง กรมประมง ได้รับทราบ ก็จะได้สบายใจในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่เรามาขอใช้ประโยชน์ในที่ที่เขารับผิดชอบอยู่”
“ในส่วนของความคืบหน้า ระหว่างที่รองบประมาณ ทางแม่ทัพน้อยฯ อยากจะพัฒนาบริเวณนี้ให้ใช้ไปก่อน ส่วนไหนที่สามารถของบองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ก็ใช้ไปก่อน ขาดเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยของบจากส่วนกลาง ตอนนี้ก็ปรับพื้นที่เคลียร์ให้ใช้ไปก่อนให้เกิดประโยชน์ดีกว่าทิ้งไว้เฉยๆระหว่างรองบประมาณ”
“สำหรับรูปแบบ บริเวณหาดบนจะทำเป็น 2 ชั้น ความยาวชั้นละ 5 เมตร เอาไว้สำหรับที่นั่งชมหาด และปลูกต้นมะพร้าวตลอดชายหาด จะมีพื้นที่สำหรับที่นั่งเก้าอี้-เตียงผ้าใบ ประมาณ 200 กว่าตัว ซึ่งจะจัดสรรให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มนักเรียน เพื่อสร้างรายได้และให้ช่วยกันดูแล ให้ถือว่าเป็นสมบัติของทุกคนที่จะต้องช่วยกันรักษา ทั้งเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย”
“เรื่องทรายที่จะนำมาใช้ในการปรับภูมิทัศน์ครั้งนี้ จะแบ่งเป็น 2 ชนิด ทรายรองพื้นจะเป็นทรายทั่วไปที่หาได้ตามบ้านเรา ส่วนทรายที่เป็นหน้าหาดจะต้องเป็นทรายขาวจากจ.ระยอง เพราะจะให้บรรยากาศและสีสันเหมือนทะเลจริงๆ ทรายขาวนี้ต้องมีความหนาอย่างน้อย 30 ซม. ซึ่งภายในเดือนมีนาคมนี้ ตนจะเดินทางไปจ.ระยองเพื่อพูดคุยเจรจาเรื่องทรายกับนายกฯที่ระยอง”
“ส่วนร้านค้าตอนนี้เหลืออยู่ร้านเดียว เพราะตอนนี้ก็ขยับขยายเตรียมย้ายไปยังพื้นที่ของเขาแล้วซึ่งอยู่ด้านหลัง เขาขอเวลาอยู่ตรงนี้ 2 เดือนคือประมาณ 60 วัน เราก็ไม่ขัดข้องระหว่างรองบประมาณ พอครบ 60 วันก็จะย้ายไป พื้นที่บริเวณตรงนี้ก็จะไม่ได้มีการรุกล้ำการใช้ประโยชน์หรือการทำมาหากินในพื้นที่สาธารณะที่ทางท้องถิ่นดูแลอยู่ ทุกอย่างตรงนี้ก็จะเข้าสู่ระบบ ต่อไปทางร้านค้าก็จะเป็นการดำเนินการของชุมชน พิจารณาคนในชุมชนที่จะเข้ามา ส่วนที่จะเข้ามาปลูกสร้างแบบผิดระเบียบผิดกฎหมายก็จะไม่มีอีกต่อไป” นายกฯสมยศ กล่าวสรุป