“สะพานสีมาธานี”ตายยาก! มติชาวโคราชสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่าเมืองสรุปปี 2562 ให้ทุบ! แต่ปี 2567 รฟท.หักไม่ยอมงอลั่นไม่ทุบทิ้งสะพานสีมาธานี อ้าง “ทางหลวง-สนข.-ทช.-กทพ.-กรมราง” กอดคอยืนยัน “สะพานสีมาธานี” ยังใช้งานได้ดี กรมทางฯไม่มีงบทุบ ตัวแทนชาวโคราชประกาศวิ่งสู้ฟัดพร้อมดับเครื่องชนเพื่ออนาคตเมืองโคราช ที่ต้องใช้ไปชั่วชีวิต!
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมาย นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 2/2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการเข้าร่วม
ในระเบียบวาระที่ 3.2 ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ที่ประชุมได้มีการสอบถามประเด็นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 ฉันทานุมัติทุกภาคส่วนของชาวโคราช เพื่อลดผลกระทบวีถีชีวิตในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางไม่เอาแนวคันดินต้องการตอม่อและรื้อถอนสะพานสีมาธานี รวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก รฟท.มีแผนดำเนินการอย่างไร
ผู้แทน รฟท.ชี้แจงผ่านระบบซูม เห็นชอบรูปแบบที่ 3 เหมาะสมที่สุด โดยยกระดับข้ามทางรถไฟ ช่วง กม.260+900 -261 รวมระยะทาง 5.1 กิโลเมตร ข้อดีทางรถไฟไม่แบ่งแยกชุมชน การสัญจรสะดวกและไม่มีผลกระทบต่อการจราจรของกรมทางหลวง จากการรื้อสะพานสีมาธานี สามารถแก้ปัญหาจุดตัดเสมอทางหลักผ่านได้ 9 จุด โดยไม่ต้องก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ไม่กีดขวางทางระบายน้ำและบดบังทัศนียภาพ เหตุผลไม่รื้อถอนสะพาน สภาพัฒน์ระบุเป็นขอบเขตของกรมทางหลวง รฟท.ไม่สามารถดำเนินการได้
นายชัชวาล วงศ์จร อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “ตนอยู่ในช่วงก่อนปี 2562 ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง ยื่นหนังสือคัดค้านกับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และรัฐมนตรี เรื่องการขอให้ยกระดับทางรถไฟทางคู่ช่วงผ่าเมืองโคราช และมีการประชุมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเห็นแย้งกันอย่างมาก จนกระทั่งสรุปว่าให้ทุบสะพานสีมาธานี แม้ว่าช่วงการก่อสร้างและทุบจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีเราก็ยอมมาหาทางแก้เรื่องการจราจรช่วงก่อสร้าง เพราะในที่ประชุมถือว่าจบปัญหาความขัดแย้งของคนโคราชไปแล้ว แต่หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบไปเลยทั้งๆที่ในที่ประชุมปี 2563 ได้มีการเสนอรูปแบบการสร้างทางเบี่ยงช่วงทุบสะพานสีมาธานี และสร้างทางลอด 4 แยกอัมพวันหน้าสีมาธานี ซึ่งเราได้คุยกันสรุปไปแล้ว”
“มาถึงวันนี้ทาง สนข.ได้มาบอกว่าจะไม่ทุบสะพานสีมาธานี เพราะสะพานยังแข็งแรง และไม่ยกระดับทางรถไฟทางคู่ ตนก็คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ทำตามมติคนโคราชที่สรุปไว้แล้วตั้งแต่ปี 2562 แล้วมาบอกว่าต้องทำ EIA ที่จะทุบสะพานสีมาธานี เรื่องนี้มันตั้งแต่ปี 2562 แล้วทำไมไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่เข้าใจมาถึงปี 2567 จะมาบอกว่าจะไม่ทุบสะพานสีมาธานี เสียเวลาทำ EIA อีก 3 ปีกว่ามันควรเป็นแบบนี้หรือไม่”
นายชัชวาล กล่าวอีกว่า “แม้ว่า รฟท.และสนข.จะบอกว่าสะพานสีมาธานีสภาพยังแข็งแรง มันคนละเรื่องกับมติคนโคราช ปี 62 การที่ออกมาสรุปเองใช้ทางเลือกที่ 3 ซึ่งไม่ทุบสะพานสีมาธานี และยังบอกว่าสะพานยังมีสภาพดีอยู่ยังใช้งานต่อไปได้ ในขณะที่คนโคราชต้องการพัฒนาเมืองหากทุบสะพานก็จะทำให้บริเวณแยกอัมพวันโล่ง ทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ก็จะวิ่งยกระดับมา ภาพจะดูสง่า มาถึงวันนี้เราเสียเวลาไป 4-5 ปีโดยไม่มีการทุบสะพานสีมาธานี แล้วมาบอกเราจะไม่ทุบโดยไม่ได้มาถามคนโคราชเลย ไม่ได้ตัดสินจากคนโคราช แต่ไปเอาเหตุผลจาก สนข. และมาบอกสะพานเป็นของกรมทางฯไม่มีงบทุบ”
“เราไม่ได้ขวางความเจริญ เราอยากให้เมืองโคราชมีระบบขนส่งที่ครบวงจร แต่สิ่งที่เรียกร้องมันเป็นมติจากความขัดแย้งของคนโคราชที่เคยเห็นต่างกันทะเลาะกันแทบแตกหักมาแล้ว และได้สรุปด้วยเหตุผลมาตั้งแต่ปี 2562 เรายื่นหนังสื่อถึงนายกฯประยุทธ ถึงรัฐบาลจนสรุปแล้ว ทำไม่ สนข.มาสรุปใหม่เองตรงนี้เราไม่เข้าใจ และเหตุผลของ สนข.ฟังไม่ขึ้น บอกต้องใช้งบเพิ่มสูงซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่โอเค”
“หลังจากนี้ทางทุกภาคส่วนต้องกลับมาคุยกันอีก เพราะคนสร้างอยู่กรุงเทพฯแต่คนใช้เป็นลูกหลานชาวโคราชใช้ไปชั่วชีวิต ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของคนโคราชเลย ไม่ควรมีเรื่องนี้เกิดขึ้น หากทาง รฟท.และสนข.จะยังใช้ทางเลือกที่ 3 เราก็จะไม่ยอม ก็คงอยู่ที่ภาครัฐและเอกชนที่จะเดินต่อไปเพราะยังยืนยันยึดมติปี 62 เท่านั้นครั้งนี้จะไม่ปล่อยให้เงียบมันเลยเกิดเรื่องนี้มาเพราะเราคิดว่าจบไปแล้วตั้งแต่ปี 62 หากยังขัดแย้งกัน “งานพืชสวนโลก 2029” ที่โคราชเป็นเจ้าภาพจัดปี 2572 จะเสร็จทันหรือไม่รวมถึงทางมอเตอร์เวย์ด้วยที่เลื่อนมาตลอด” นายชัชวาล กล่าวทิ้งท้าย
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ตนปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมาและดำรงตำแหน่งเป็น รอง ผวจ.สระบุรี ย้ายกลับเป็น รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นเวลา 5 ปี ความคืบหน้าวนไปมาติดขัดประเด็นรื้อถอนสะพานเหมือนเดิม ตัวเลขจีดีพี จ.นครราชสีมา ต่อปีละกว่า 3.5 แสนล้านบาท หากดำเนินการตามฉันทานุมัติ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่กระทบต่อวิถีชีวิตในอนาคตรวมทั้งคุ้มค่ากับงบลงทุนไม่ถึงหมื่นล้านบาท จากนั้นได้ขอมติ อจร.นม. ในการประชุมวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 แนวทางรื้อถอนสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน ปรากฏว่าทุกคนยกมือเห็นชอบ”
นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 กล่าวว่า “รูปแบบที่ 3 เป็นทางรถไฟมหาสนุกโดยลอดสะพานเลี่ยงเมืองไต่ระดับขึ้นประมาณ 2 กม. แล้วค่อยๆลดระดับลอดสะพานสีมาธานี จากนั้นไต่ระดับขึ้นอีกเพื่อเทียบชานชาลาชั้น 2 สถานีรถไฟนครราชสีมา และช่วงผ่านจุดตัดทางรถไฟ ถ.สืบศิริ ความสูงทางยกระดับรถไฟไม่เกิน 2 เมตร รถยนต์สัญจรผ่านต่อวันหลายหมื่นคัน ไม่สามารถลอดผ่านได้ ต้องใช้เส้นทางอ้อมระยะทางประมาณ 1 กม. การไม่รื้อถอนสะพาน ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆ รวมหลาย 100 ล้านบาท และความไม่สะดวกในการสัญจรของชาวโคราช”
นายภาณุ เล็กสุนทร ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า “รื้อถอนสะพานสีมา ทำให้ชาวโคราชเห็นต่างถึงขั้นไม่มองหน้ากันปี 2562 สมัยนายวิเชียร จันทรโณทัย เป็นผวจ.นครราชสีมา เชิญทุกภาคส่วนมาประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในทิศทางเดียวกัน แต่ รฟท.ปัดฝุ่นเสนอรูปแบบที่ขัดแย้งฉันทามติ แม้ระหว่างก่อสร้างเกิดปัญหาจราจรประมาณ 3 ปี ชาวโคราชยอมรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี การรื้อถอนสะพานเกิดประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญงบเพิ่มขึ้นก็เป็นภาษีประชาชน พวกเราเกิดทำมาหากินและตายที่นี่มองในมิติการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ ขอให้ รฟท.ดำเนินการตามความต้องการด้วย”
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ คณะกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตนเป็นตัวแทนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการประชุมโดยตลอด มองว่าควรทุบสะพานสีมาธานีทิ้ง ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้น