โดนใจคนรุ่นใหม่! ออกแบบผลงานศิลปะ “อาร์ตทอย ท้าวสุรนารี” ไอเดียของ “น้องโด้”ก้องพิภพ หมู่โสภณ นักศึกษาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เตรียมดันสู่ซอฟต์พาวเวอร์ สินค้าอัตลักษณ์คนโคราชที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นในอนาคต
“ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม” หากเป็นภาษาพูดเรียกว่า “ย่าโม” เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ชาติไทยในฐานะวีรสตรีมีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมา จากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)” ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” และได้สร้างอนุสาวรีย์ฯของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศไทย
ปัจจุบันทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมจัดงาน “วันฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารี” ซึ่งเป็นงานประจำของทุกปีที่จัดยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 12 วัน 12 คืน โดยมีสตรีชาวโคราชหลายพันคนรำบวงสรวงหน้าอนุสาวรีย์พร้อมการแสดงแสงสีเสียง เรื่อง “วีรกรรมท้าวสุรนารี” ตลอดทั้งปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากราบไหว้สักการะขอพรท้าวสุรนารี หากเดินทางมาที่โคราช ก็ต้องหาเวลามากราบไหว้ขอพรด้วย
จากกระแสในโลกออนไลน์ให้ความชื่มชมผลงานการออกแบบผลงานศิลปะ “อาร์ตทอย ท้าวสุรนารี” (Art toy THAO SURANARI ) “ย่าโม” Artist -Dodeedope ของนักศึกษาหนุ่ม ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา อาร์ทอยชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะเอกลักษณ์ของท้าวสุรนารี หรือย่าโม วีรสตรีของชาวโคราช มีรูปร่างหน้าตาน่ารักโดนใจคนรุ่นใหม่ พร้อมสอดแทรกวีรกรรมความรู้ในรูปแบบการ์ตูนมินิคอมมิคให้กับนักสะสม ขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่อาคาร 37 หอศิลป์ตะโกราย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา
นายก้องพิภพ หมู่โสภณ หรือ “น้องโด้” นักศึกษาหลักสูตรการออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เจ้าของผลงาน อาร์ททอยท้าวสุรนารี “ย่าโม” เปิดเผยว่า “โปรเจ็กต์นี้ทางอาจารย์ต้องการให้เอาของดี ของโบราณ ของเมืองโคราชมาออกแบบ มาดีไซน์ใหม่ในแนว “อาร์ตทอย” (Art toy) ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งจากการลงสำรวจ จุดที่คนร่วมตัวกันเยอะที่สุดก็คือบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเลยต้องเดินทางมาตรงจุดนี้เป็นหลัก”
“ที่ผ่านมาไม่กล้านำย่าโมมาเกี่ยวข้องเลย เพราะกลัวเรื่องของกระแสดราม่าต่างๆนานา แต่เมื่อย่าโมมีความสำคัญมากกับชาวโคราช เมื่อค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับของฝากของที่ระลึกถึงย่าโม กลับไม่มีอะไรที่สื่อเลย นอกจากรูปปั้นย่าโมในกรอบทองที่นำไปบูชาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ”
“ตนจึงเกิดไอเดียต้องการสร้างของฝาก ของสะสม ที่สื่อถึงคุณย่าโมมากกว่านี้ ประกอบกับกระแสความนิยม “อาร์ตทอย” กำลังมาแรง ได้ลงมือออกแบบคอลเลคชั่น คุณย่าโม เป็นเหมือนของสะสม ของฝากให้กับนักท่องเที่ยว นอกเหนือไปจากผัดหมี่โคราช เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นมากขึ้น จากกระแสในโลกโซเชียลส่วนใหญ่มีแต่คนเห็นด้วยและชื่นชม เพราะเป็นผลงานที่ดูแปลกตา ไม่เหมือนกับที่เคยพบเห็นทั่วไป” นายก้องพิภพ กล่าว
“อาจารย์บิว”นางสาวศศิรดา พันธ์วิเศษศักดิ์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ศิลปวัฒนธรรมอีสานเพื่องานออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มทร.อีสาน เผยว่า “ได้นำองค์ความรู้จากการไปศึกษาปริญญาเอกสาขาออกแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries Design) วิทยาลัยการผังเมืองและการออกแบบ (College of Planning) มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกุง ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2019 มีแรงบันดาลใจจากการเรียนการสอน วัฒนธรรม รวมทั้งได้เห็นสัมผัสซึมซับเรียนรู้ พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ มีโซนแสดงนิทรรศการ กิจกรรมกลางแจ้ง เต็นท์ขายของแฮนด์เมด งานคราฟต์ งานอาร์ตทั้งหลาย”
“ซึ่งทางการไต้หวัน ให้การการสนับสนุนเรื่องการสร้างสรรค์งานศิลปะและทรัพย์สินทางปัญญาจาก ส่งผลให้ตามหัวเมืองต่างๆมีครีเอทีฟสเปซ อาร์ตสเปซ กระจายอยู่ทั่วไปเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงผลงานศิลปะมากขึ้น ที่สำคัญได้เห็นผลสัมฤทธิ์ สามารถฟื้นแหล่งท่องเที่ยว เมืองเก่าแก่โบราณที่ถูกลืมจนแทบเลือนหายไป สร้างสิ่งดึงดูดจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมา ผ่านกิจกรรมและผลงานการออกแบบด้านศิลปวัฒนธรรม โดยความร่วมมือของนักออกแบบ ศิลปินออกแบบ กราฟิกดีไซน์ ชาวเมืองในท้องถิ่น และข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์”
“เมื่อตกผลึกในกระบวนการเรียนรู้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำแล้ว เริ่มมาเผยแพร่ความรู้กับนักศึกษาในคณะ จำนวน 60 คน ในปี 2566 มีจุดมุ่งหมายในการเล่าเรื่องเมืองโคราชผ่านงานออกแบบนิเทศศิลป์ เป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการรับรู้ในมิติทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการค้นหาเอกลักษณ์ จุดเด่นของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม มีกระบวนการคิด ระดมสมอง (Brainstorming) แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน”
“รวมไปถึงการลงพื้นที่จริง สำรวจ และคันหาแรงบันดาลใจจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมวัตถุดิบทางวัฒนธรรมนหลากหลายของโคราช ล้วนสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงาน เช่น อนุสาวรีย์ห้าวสุรนารี (ย่าโม) อาหารพื้นถิ่น อาคาร สถาปัตยกรรม สัตว์นำโชค วิถีชีวิตของคนโคราช เพลงโคราชประเพณีประจำจังหวัด เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกทางความคิดในการเพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม”
อาจารย์บิว กล่าวอีกว่า “สำหรับผลงาน “อาร์ตทอย คุณย่าโม” ถือเป็นผลงานต้นแบบที่โดดเด่น มีการนำอัตลักษณ์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาตีความออกมาในมุมมองของคนรุ่นใหม่ และเป็นผลงานออกแบบที่สามารถจำหน่ายได้จริง นำไปสู่การต่อยอดครีเอเตอร์อีโคโนมี เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สินค้าอันเป็นอัตลักษณ์คนโคราชที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นในอนาคต”
“นอกจากผลงานยังมี “หนังสือภาพประกอบ” บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเพลงโคราช , คาแรคเตอร์ดีไซน์แมวโคราช หรือแมวสีสวาด คู่กับอาชีพที่อยู่บริเวณลานย่าโม เช่น สามล้อถีบ ตากล้องลานย่าโม ส่องพระ ขายดอกไม้ไหว้ย่าโม นักร้องเพลงโคราช ฯลฯ และเกมส์บันไดแมว โดยเปลี่ยนจากเกมส์บันไดงู เป็นบันไดแมว ใช้คาแรคเตอร์ที่นักศึกษาออกแบบเป็นตัวละครในเกมส์ ผลงานทุกชิ้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการออกแบบ ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น เข้ามาชมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาผลงานต่อไป” อาจารย์บิว กล่าว
นายกิตติ เชาว์ดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า “หากย้อนกลับไปในในยุคเก่าก่อน จะนิยมเก็บสะสมพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง สิ่งของโบราณต่างๆ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ “อาร์ตทอย” เป็นของเล่นสะสมประเภทประติมากรรมที่ถูกรังสรรค์โดยศิลปิน นักออกแบบหรือจิตรกรภาพประกอบ ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ในหลายอารยประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ โดยเฉพาะใน จ.นครราชสีมา มีความตื่นตัวในการขับเคลื่อนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช ที่มีอยู่มากมายทั้งแหล่งท่องเที่ยว อาหาร ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม สัตว์ประจำจังหวัด แมวสีสวาด ผ้าไหม ฯลฯ”
“เพื่อกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีความคึกคักกว่าเดิม ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีนักษาศึกษาคนรุ่นใหม่นำท้าวสุรนารี หรือย่าโม ซึ่งเป็นสิ่งสักการะยึดเหนี่ยวจิตใจของคนโคราช และคนไทยทั้งประเทศ มาต่อยอดออกแบบเป็น อาร์ตทอยที่น่าเก็บสะสม เชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เมืองโคราชเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในประเทศ และทั่วโลกต่อไป”
“เบื้องต้นได้รายงานให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับทราบแล้ว ตนในฐานะที่ทำงานในพื้นที่โดยตรง จะมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทาง หรือช่องทางในการสนับสนุนประชาสัมพันธ์ต่อไป”