“ผู้ว่าฯสยาม” นำชาวโคราชทุกภาคส่วนทำพิธีบรวงสรวงพร้อมรีโนเวทบูรณะ “ซุ้มประตูชุมพล” หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ปิดพื้นที่แล้วปรับปรุงเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนงานฉลองสมโภช “เมืองนครราชสีมา ครบรอบ 555 ปี” ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม 2566 พร้อมงานใหญ่ ฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี 23 มีนาคม 2566
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี “จังหวัดนครราชสีมา” และ “เทศบาลนครนครราชสีมา” ร่วมทำพิธีบวงสรวงในการบูรณะซุ้มประตูชุมพลหลังย่าโม ครั้งประวัติศาสตร์ “เมืองนครราชสีมา ครบรอบ 555 ปี” โดยทำการบูรณะทาสีซุ้มประตู กำแพงเมือง และซ่อมแซมอาคารไม้ส่วนด้านบน ให้มีความแข็งแรงทนทานงดงามยิ่งขึ้น โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธี และนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาล พ่อค้านักธุรกิจร่วมพิธี พร้อมด้วย “อ๊อฟ”พงษ์พัฒน์ และ “แดง”ธัญญา วชิรบรรจง” มาร่วมพิธีด้วย
พร้อมมีผู้ร่วมบริจาคซ่อมแซมซุ้มประตูชุมพล อาทิ “อ๊อฟ”พงษ์พัฒน์ และ “แดง”ธัญญา วชิรบรรจง” ในนาม MONO 29 จำนวน 440,000 บาท, คุณภารดี นิศามณีวงศ์ 100,000 บาท, คุณบุญสิตา-กิตติธัช ว่องวัจนะ 100,000 บาท
ผู้ว่าฯสยาม กล่าวว่า “เนื่องในโอกาสที่จังหวัดนครราชสีมา จะครบรอบ 555 ปี บริเวณซุ้มประตูชุมพล หลังย่าโมที่เป็นเสมือมแลนด์มาร์คของจังหวัดฯ มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้มีสภาพที่ทรุดโทรม ซึ่งจังหวัดฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากภาคเอกชนด้านสื่อโทรทัศน์โดยคุณอ๊อฟ และคุณแดง สนับสนุนเรื่องงบประมาณในการบูรณะปรับปรุง”
“โดยทางจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯได้จัดทำแบบโดยความเห็นชอบจากกรมศิลปากรร่วมกับเทศบาลนครนครราชสีมา ให้ดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการบูรณะจะดำเนินการในส่วนที่ชำรุด เพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีสภาพคงเดิมอยู่กับพี่น้องชาวโคราชไปอีกยาวนานต่อไป”
สำหรับ “ประตูชุมพล” ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้มีป้ายบอกความหมายของ “ประตูชุมพล” ว่า “ประตูเมืองนครราชสีมา รวมทั้งกำแพงเมืองและคูเมือง เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตัวเมืองนครราชสีมา ที่ได้ก่อสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ปัจจุบันมีประตูชุมพล ที่ยังคงรูปลักษณ์เดิมอยู่ได้ ซุ้มประตูก่อด้วยหินทราย และศิลาแลงก้อนใหญ่ แล้วต่อเป็นกำแพงออกไปทั้ง 2 ข้าง เหนือกำแพงตรงช่องประตู มีเรือนไทยหลังเล็กๆอยู่หลังหนึ่งทำด้วยไม้แก่น เรียกว่า “หอรบ” หลังคามุงกระเบื้องประดับช่อฟ้าใบระกา กำแพงที่ต่อออกไปทั้ง 2 ข้าง ส่วนบนทำเป็นรูปใบเสมา”
ชื่อประตู “ชุมพล” นั้นหมายความถึง “ชุมนุมพลส่วนใหญ่ เป็นประตูสำหรับเตรียมไพร่พลและออกศึกเนื่องจากมีภูมิประเทศเปิดกว้าง ไม่มีป้อมปราการตามธรรมชาติเหมือนประตูอื่นๆ ในอดีตมีความเชื่อว่า เมื่อรอดผ่านประตูชุมพลไปทำศึกแล้ว จะแคล้วคลาดได้กลับบ้านเมือง”
และปัจจุบัน “ประตูชุมพล” ยังมีความเชื่อและเป็นเรื่องจริงที่กล่าวขานกันปากต่อปากมานานชั่วลูกชั่วหลานว่า…หากลอดประตูชุมพลแล้ว..จะได้แฟนเป็นคนโคราช, ลอดประตูชุมพลแล้ว..จะได้กลับมาที่โคราชอีกครั้ง, ลอดประตูชุมพลแล้ว..จะได้มาทำงานที่โคราช