ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่! ชาวโคราชมาร่วมชมสงครามวีรกรรรมเลือดท่วมทุ่งสัมฤทธิ์! แน่นทั้ง 4 วัน โชว์ละครเวทีเธียเตอร์ สุดอลังการแสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” การแสดงกว่า 300 ชีวิตแบบสื่อผสมเสมือนจริง เมื่อวันที่ 27-30 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมฯ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ด้าน “หน่องเชอร์รีฟ” ผู้กำกับยันปีหน้ากลับมาจัดครั้งที่ 2 แน่นอน และข่าวดี “ผู้ว่าโคราช” สนใจให้กลับมาแสดงในงาน “ฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี” มีนาคมปีหน้า
หลังจาก “มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล” โดย อ.ดร. ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ร่วมทีมเชอร์รีฟ นายสนธยา อ่อนน่วม ผู้กำกับการแสดง ผู้สร้างผลงานอันลือลั่น โชว์แสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี หรืองานย่าโม มาแล้วกว่า 11 ปี ครั้งนี้ย้ายสถานที่แสดงแห่งใหม่การแสดงแสง สี เสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกู ชื่อบุญเหลือ” ครั้งที่ 1 ปี 2565 เมื่อวันที่ 27-30 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมฯ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
ซึ่งการแสดงครั้งนี้ได้จัดขึ้นเนื่องในวันสถาปนา “คุณหญิงโม” เป็น “ท้าวสุรนารี” โดยมีนักแสดงกว่า 300 ชีวิต มาร่วมสร้างตำนานมหาสงครามปกป้องเมืองนครราชสีมา จากข้าศึก จุดกำเนิดวีรสตรีแห่งโคราชจนถึงทุกวันนี้
นายสนธยา อ่อนน่วม หรือ “หน่องเซอร์รีฟ” ผู้กำกับการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” เปิดเผยว่า “การจัดแสดงในครั้งนี้เป็นการยกระดับการแสดงแสงสีเสียงเรื่อง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ในตอน “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” ให้มีมาตรฐานเป็นละครเวทีเธียเตอร์ ประกอบเทคนิคเอฟเฟคต่างๆให้ผู้มีโอกาสเข้าชมได้รับอรรถรส เข้าถึงกับเนื้อหาเรื่องราวได้มากกว่า ที่เคยจัดมา”
“ผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์มุก อาจารย์ปราณีและท่านอธิการมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่เปิดโอกาสอนุญาตให้ใช้สถานที่ในครั้งนี้ ส่วนเหตุผลทำไมต้องจัดในเดือนตุลาคม โดยเฉพาะวันที่ 30 ตุลาคม เพราะเป็นวันสำคัญที่ผู้คนน้อยมาก ที่ได้รับรู้ว่าเป็นวันสถาปนา “คุณหญิงโม” ขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน”
“กระแสตอบรับการแสดงทั้ง 4 วันดีมาก ตั้งแต่รอบวันแรกสื่อมวลชน ที่มาชมต่างช่วยกันประโคมข่าวออกไป ทำให้อีก 3 วันได้มีผู้มาชมจำนวนมากแน่นห้องประชุม และยังมีผู้ใหญ่ของจังหวัดให้ความสนใจมาร่วมชมอย่าง คุณกร ทัพพะรังสี คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คุณประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี และผู้ว่าฯสยาม ศิริมงคล ก็มาชมวันสุดท้ายพร้อมนายกเหล่ากาชาดฯ”
“โชว์ย่าฉันท่านชื่อโม ครั้งนี้ก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกันชมทั้ง 4 วัน ซึ่งผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าได้มาชมการแสดงแล้วทำให้เข้าใจเรื่องราววีรกรรมของท้าวสุรนารี ได้ดีกว่าไปอ่านในหนังสืออีก อย่างท่านกร ทัพพะรังสี ยังบอกว่าดีที่สุดเท่าที่ได้เคยดูประวัติท้าวสุรนารีมากว่า 50 ปี อย่างท่านสุวัจน์ ก็ชมว่า การแสดงมีการผสมผสานเทคโนโลยีแสง สี เสียง ที่เราเอามาใช้ทั้งออนสเตจ ภาพกราฟฟิกบนจอ ระบบซาวด์ เสียงเอฟเฟค ยอมรับว่าเป็นฝีมือคนโคราชทำเองล้วนๆถือว่ายกระดับโปรเฟสชั่นนอลเลย”
นายสนธยา กล่าวอีกว่า “ตอนนี้ทางจังหวัดฯโดยผู้ว่าฯสยาม ศิริมงคล ได้ส่งหนังสือมาทาง ม.วงษ์ชวลิตกุล ให้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 16 พ.ย.นี้ โดยมีวาระเรื่องการแสดงแสงสีสีเสียง ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี หรืองานย่าโม ด้วยซึ่งตนได้บอกผู้ว่าฯไปว่าการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” เกิดมาจากงานย่าโม แต่ด้วยเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถแสดงในงานย่าโมได้ขาดหายไป จึงย้ายมาจัดที่ ม.วงษ์ฯ”
“ถ้าการพูดคุยกับทางจังหวัดเป็นที่ตกลง งานย่าโมปี 2566 ชาวโคราชก็จะได้มาชมความยิ่งใหญ่แน่นอน ส่วนสถานที่จัดเดิมในงานย่าโม เป็นบริเวณคูเมืองหน้าหอสมุดฯแสดงกลางน้ำ ซึ่งตนมองว่ายุ่งยากหลายอย่าง แต่ครั้งนี้จุดที่อยากจัดการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” คือบริเวณสวนหลังเวทีออเคสตร้าข้างลานย่าโม ถ้าจัดตรงนี้ตนมองว่าแปลกและสวยงามมาก ต้องหารือกับทางนายกฯประเสริฐ ด้วย”
นายสนธยา กล่าวต่อว่า “สำหรับการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ปีหน้าที่ ม.วงษ์ชวลิตกุล ก็ยังจัดเหมือนเดิม เพราะได้บรรจุเป็นปฏิทินของทาง ม.วงษ์ ซึ่งกำลังก่อตั้งสถาบันการแสดงศิลปะดนตรี และตนได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ร่วมดูแลกิจกรรมต่างๆของ ม.วงษ์ ก็จะมีการพัฒนาในเรื่องของบทการแสดง เทคนิคต่างๆเพื่อพัฒนาด้านการแสดงไปเรื่อยๆ”
“และที่สำคัญกรณีที่จังหวัด หรือภาคเอกชนมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนโคราช อยากให้เขาได้ชมการแสดงชุดนี้ เราก็สามารถจัดแสดงให้ชมได้เลย ไม่ต้อรอชมช่วงงานย่าโม หรือปลายปีที่ ม.วงษ์ เพียงแจ้งล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว เพราะเรามีนักแสดงและวางระบบไว้พร้อมอยู่แล้ว คล้ายกับเป็น “ภูเก็ตแฟนตาซี” แต่เป็นโชว์แสงสีเสียงที่โคราช”
“งานแสดงแสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ที่ผมได้ทำมากว่า 11 ปี มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่สอดแทรกเข้ามาทั้งเนื้อหา เรื่องราว ไม่ว่ากับการทำงานกับผู้คน สถานที่ สถานการณ์ที่มีการ แปรผันไปทั้งทางบวกและลบ แต่ก็หลุดรอดมาได้ทุกๆครั้ง จากการค้นคว้าสืบเสาะหาข้อมูลในแต่ละปี เพื่อที่จะเอามานำเสนอให้ลูก หลานย่าโม ย่าบุญเหลือ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีโอกาสได้ชม ผมคาดหวังเหลือเกินว่า จะทำให้ความรู้สึกรักชาติ รักโคราช แผ่นดินที่ย่าโมและบรรพชนได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษามาจนถึงรุ่นเรา”
นายสนธยา กล่าวอีกว่า “สำหรับชื่อตอนคำที่ใช้ว่า “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” เอามาเป็นชื่อตอน เนื่องมาจากตัวเองที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องราวของย่าโม ย่าบุญเหลือ ได้รับรู้อย่างลึกซึ้ง จึงมีความรู้สึกที่ค่อนข้างแย่มากๆ กับข่าวคราวเมื่อบี 63 โด่งดังไปทั่วประเทศ ที่มีรายการหนึ่งบิดเบือน กล่าวหาว่า “ย่าบุญเหลือ” เป็นภรรยาน้อยของ “พระยาปลัดทองคำ” ที่เป็นสามีของคุณย่าโม แม้พี่น้องชาวโคราชจะมีการกดดันให้ทางรายการเข้ามากราบขอขมาท่าน ทั้งที่อนุสารีย์และหน้าอัฐิของคุณย่าโม ที่วัดศาลาลอย ตามสื่อต่างๆ ที่นำเสนอไปแล้วนั้น แต่ในคลิปของรายการดังกล่าว ยังไม่ยอมที่จะลบคลิปนี้ออกไป แม้ผู้หลัก ผู้ใหญ่หลายฝ่ายจะขอความร่วมมือ กดดันอย่างไร รายการดังกล่าวก็ยังดื้อแพ่งไม่ลบคลิปออก อาจเป็นเพราะ ปล่อยให้เป็นกระแส สร้างรายได้กับคลิปที่บิดเบือนต่อไป”
“ผมจึงอยากลุกขึ้นมาทำเท่าที่จะทำได้ กับการเสนอข้อเท็จจริง ในรูปแบบนอกตำรา และเหมือนกับให้ย่าโม ได้บอกคนพวกนั้นว่า “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” ตวาดดังๆให้พวกมันได้ยินและเพื่อให้ลูก หลานผู้ชม ได้รับรู้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้จะเริ่มในจุดเล็กๆ ตรงนี้ แต่ผมก็มั่นใจว่า ในอนาคตเรื่องราวนี้จะได้รับการถ่ายทอด จากปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น ว่าจังหวัดนครราชสีมาของเรา มีความเป็นมาที่น่าสนใจเพียงใด” นายสนธยา กล่าวทิ้งท้าย