“ม.วงษ์ชวลิตกุล” ร่วมกับ “ททท.โคราช” จัดงานใหญ่ 2 งานในที่เดียว “อีสานม่วน MUSIC FESTIVAL 2 สัญจรเมืองย่าโม” และ โชว์แสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกูชื่อบุญเหลือ” วันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 ที่ “มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล” ชมฟรี! ทั้ง 2 งาน
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 65 ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้ร่วมกันแถลงข่าว “อีสานม่วน MUSIC FESTIVAL 2 สัญจรเมืองย่าโม” พร้อมไฮไลท์การแสดงแสงสีเสียง อิงประวัติประวัติศาสตร์ “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกูชื่อบุญเหลือ” ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลอนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน นางภาวนา ประจิตต์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา อาจารย์ดร.ณัฐวัฒน์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และ พ.ต.ท.ยุทธพงษ์ โคขุนทด สวป.สภ.เมืองนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าว
ภายในงาน “อีสานม่วน MUSIC FESTIVAL 2 สัญจรเมืองย่าโม” จะมีการจัดกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการมากมาย การประกวดดนตรีวงสากลของเยาวชน ชิงเงินรางวัลรวม 20,000 บาท พร้อมทั้งมีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง “ครูเต้ย อภิวัฒน์, ลําไย ไหทองคํา, แสงดาว พิมพ์มะศรีล, ศาล สานศิลป์, วงวานร, แอ๊กกี้ PT MUSIC และ โก๋อาร์ม ปาร์ตี้โต๊ะ”
นายสมเกียรติ วิริยะกุลอนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพมหานคร มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติ เกษตรพอเพียง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง โดยในแต่ละปีจะพบมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวจะขาดไม่ได้คือการไปสักการะย่าโม หรือท้าวสุรนารี เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และการรอดซุ้มประตูชุมพล มีความเชื่อว่าหากใครได้มารอดประตูจะได้กลับมาโคราชอีกครั้ง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อต้องการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เกิดการใช้จ่ายภายในจังหวัด”
นางภาวนา ประจิตต์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “การจัดกิจกรรมอีสานม่วนครั้งที่ 2 ตอนสัญจรเมืองย่าโม เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากประสบการณ์การท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าแบบประเทศไทย และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัวอย่างหนัก นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยได้เหมือนเดิม การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยกระจายรายได้ต่อท้องถิ่น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว”
อาจารย์ ดร.ณัฐวัฒน์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล เปิดเผยว่า “ภายในงานจะมีการแสดง แสงสีเสียง สื่อผสมอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “ย่าฉันชื่อโม” ตอน “หลานกูชื่อบุญเหลือ” จำลองเหตุการณ์วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ที่ท้าวสุรนารีหรือคุณย่าโม กับนางสาวบุญเหลือ นำพี่น้องชาวโคราชลุกขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึก ที่ต้อนชาวโคราชมาเป็นเฉลยศึก โดยนางสาวบุญเหลือ ได้เสียสละชีวิตด้วยการนำคบเพลิงไปโยนใส่เกวียนดินปืน และในที่สุดย่าโมก็ได้นำชาวบ้านต่อผู้จนข้าศึกแพ้พ่าย และสามารถกอบกู้เมืองโคราช ให้กลายเป็นปึกแผ่นถึงทุกวันนี้”
พ.ต.ท.ยุทธพงษ์ โคขุนทด สวป.สภ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลความสงบเรียบร้อยและเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยรวมไปถึงการจราจรภายในและภายนอกการจัดงาน โดยได้มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิงเพื่อทำการตรวจค้นอาวุธ และการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดเพื่อลดการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทภายในงาน พร้อมทั้งประสานกับสถานพยาบาลให้มีการคัดกรองมาตรการการแพร่ระบาดของโควิด 19”
ทั้งนี้ สำหรับโชว์ละครเวทีเธียเตอร์ สุดอลังการแสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกูชื่อบุญเหลือ” การแสดงกว่า 300 ชีวิตแบบสื่อผสมเสมือนจริง ยิ่งใหญ่ที่สุด!
“มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล” ร่วมกับทีมเซอร์รีฟ ผู้สร้างผลงานอันลือลั่น โชว์แสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี หรืองานย่าโม มาแล้วกว่า 11 ปี ครั้งนี้ย้ายสถานที่แสดงแห่งใหม่งานแสดงแสง สี เสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกู ชื่อบุญเหลือ” ครั้งที่ 1 ปี 2565
และวันที่ 30 ตุลาคม 2565 เป็นวันที่ชาวโคราชภาคภูมิใจเพราะเป็นวันที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 3” สถาปนา “คุณหญิงโม” ให้เป็น “ท้าวสุรนารี” และเป็นวันครบรอบ 195 ปีอีกด้วย
ชมฟรี! วันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ณ หอประชุมฯ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และพิเศษ! รอบเอ็กซ์คลูซีฟ วันพฤหัสฯที่ 27 ตุลาคม 65 พบกับการแสดงปฐมฤกษ์ “รอบสื่อมวลชน”