เปิดประสบการณ์ใหม่ของงานประชุม “สุดยอดอุตสาหกรรมเกษตรระดับภูมิภาค AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA Regional Summit 2021” ที่ศูนย์กลางธุรกิจเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งท้ายปี ถ่ายทอดผ่าน 17 งานสัมมนา บรรยายโดย 85 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 20 ประเทศ นำเสนอให้เกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรเพื่อก้าวไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน
เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการกับงาน AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA Regional Summit 2021 ซึ่งมีกำหนดการระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียลโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช และถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ DLG CONNECT จัดโดยผู้จัดงานแสดงสินค้าที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรอย่าง วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค และ สมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพันธมิตรการจัดงานนานาประเทศ (กระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย)
โดยมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ นำโดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ประธานเปิดงาน) พร้อมด้วย คุณชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา / คุณนุช หอมรสสุคนธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) / Mr. Michael Ritter, Senior Vice President Asia, CLAAS Global Sales GmbH และ Mrs. Katharina Staske กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน (ประเทศไทย)
วัตถุประสงค์หลักในการจัดงานเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมเกษตรของภาคอีสานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมเชื่อมโยงความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมด้านการเกษตรจากนานาประเทศสู่ตลาดเอเชียผ่านการจัดงานสัมมนาเพื่อเป็นสะพานความรู้สู่การจุดประกายความคิดริเริ่มในการพัฒนา-ปรับปรุง-ต่อยอดการเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาอย่างยืน ตลอดจนการพบปะผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เข้าถึงเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับผู้ประกอบการผู้ซื้อ และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ภายใต้ธีมการจัดงาน “การผลิตอัจฉริยะสำหรับระบบอาหารที่ยั่งยืน”
โดยถ่ายทอดผ่าน 17 งานสัมมนา บรรยายโดย 85 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 20 ประเทศ ตลอด 2 วันของการจัดงาน พร้อมต้อนรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 รายบนมาตรการป้องกันโรคระบาดตามข้อกำหนดของการจัดงานอย่างรัดกุมเคร่งครัด ภายในงานมีโซนจัดแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ กว่า 14 รายนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับผู้เข้าชมงานทั้งที่สถานที่จัดงานในรูปแบบปกติและผ่านระบบออนไลน์ DLG CONNECT ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมฟาร์ม 505 FarmTech ของบริษัท CLAAS พร้อมชมการสาธิต เทคโนโลยีการดูดหญ้ารูซี่ด้วยรถคลาสจากัวร์ (CLAAS JAGUAR) เพื่อใช้ทำไซเลจอาหารสัตว์ที่แปลง พร้อมการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญของคลาสอย่างเจาะลึกสำหรับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ งานนี้นับเป็นงานนำร่องไปสู่การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบปกติในปี 2565 นี้
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA Regional Summit ซึ่งมีหัวข้อหลักของการประชุมในหัวข้อ การผลิตที่ชาญฉลาดสำหรับระบบอาหารที่ยั่งยืน มีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศไทยที่ผ่านมา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังเป็นมาพลิกโฉมจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบเกษตรและการผลิตอาหารที่ยั่งยืน”
“ซึ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การพัฒนากำลังคนในภาคเกษตรให้เป็น Smart Farmer และ Smart Officer ยกระดับผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ / พัฒนากระบวนการทำงานโดยทำงานในพื้นที่และแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์กัน / ผลักดันการใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตรเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดปัญหาและความเสี่ยงจากการเกษตร และสุดท้าย การสร้างเครือข่ายกับทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร นำจุดแข็งของทุกภาคส่วนมาสนับสนุนการพัฒนาภาคเกษตรเพื่อสร้างความเข้าใจถึงการผลิตที่ทันสมัยและการจัดการพืชผลอย่างชาญฉลาดเพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนทั้งระบบ”
คุณชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เสริมว่า “หลังจากได้พิจารณาโปรแกรมงานประชุมในครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าทางผู้จัดฯ มาถูกทางแล้ว เนื่องจากโคราชเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางในการผลิตข้าว มันสำปะหลัง อ้อย กระเทียม และกาแฟของประเทศไทย ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตร 3 อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่ ข้าว (ประมาณ 18,000 ตัน) กระเทียม (52 ตัน) และ เมล็ดกาแฟ (16 ตัน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภายในโคราชและพื้นที่ใกล้เคียงมีเกษตรกรมืออาชีพและเกษตรกรทั่วไปจำนวนมาก ซึ่งการเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและต่อยอดความรู้ในเรื่องการจัดการพืชผลอย่างชาญฉลาด และการใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการเปิดรับนวัตกรรม และวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน”
คุณนุช หอมรสสุคนธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สนับสนุนว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการเกษตรมาอย่างช้านาน โดยภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อนละ 6 ของ GDP ผลิตโดยใช้แรงงานราวหนึ่งใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและรูปแบบการทำงานของระบบเกษตรกรรม เกษตรกรจึงไม่สามารถพึ่งพาแรงงานการผลิตในรูปแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว และมีความจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับแนวคิดการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติควบคู่ไปกับการผลิตอย่างยั่งยืน”
“ภายในงานประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมเกษตรระดับภูมิภาคครั้งนี้ มีการรวมหัวข้อสำคัญต่างๆ มานำเสนอให้เกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรเพื่อก้าวไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน”
Mr. Michael Ritter, Senior Vice President Asia, CLAAS Global Sales GmbH กล่าวว่า “CLAAS มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้เพื่อได้แบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญของเรา ตลอดจนเรียนรู้จากเกษตรกรและผู้เข้าร่วมงานท่านอื่นๆ บริษัทของเรามีความสนใจและพยายามที่จะเข้าใจถึงความต้องการของเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อจัดหาเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมให้การทำเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของการผลิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะมีโอกาสได้ชมการสาธิตเครื่องเก็บเกี่ยวอาหารสัตว์ CLAAS JAGUAR ในโปรแกรม Farm Visit”