รฟท.สรุปประชุมครั้งสุดท้ายก่อนเสนอ ครม. ลุยสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช ด้าน “ผู้ว่าฯวิเชียร” เตรียมระดมสมองกลุ่มย่อย หารือแนวทางแก้รถติดช่วงทุบสะพานสีมาธานี ที่ต้องก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และอุโมงค์ทางลอด ใช้เวลายาวกว่า 3 ปี
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่หอประชุมเปรม ติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมชี้แจงรูปแบบรายละเอียดการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ และแนวทางการบริหารการจราจรในช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา
โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย, สมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา, นายกเทศมนตรีเทศบาลนครฯ, โยธิการและผังเมือง, แขวงการทางฯ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ภาคเอกชน, บริษัทที่ปรึกษารฟท. และภาคประชาชน ร่วมรับฟังกว่า 100 คน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “หลังจากมีมติให้มีการทุบสะพานข้ามแยกโรงแรมสีมาธานีออก เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา ทางจังหวัดฯ จึงให้โจทย์ไปยังบริษัทที่ปรึกษาทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงการจัดการจราจรบริเวณดังกล่าวในช่วงระหว่างการก่อสร้างทุบสะพานสีมาธานี”
“บริษัทที่ปรึกษาฯ จึงมีแผนจัดการจราจรว่า จะต้องมีการขยายช่องทางจราจรบริเวณริมถนนมิตรภาพที่จะข้ามไปยังถนนอีกด้าน เพิ่มอีก 1 ช่องทาง เป็น 3 ช่องทาง เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด ส่วนสะพานที่ถูกทุบออกไป จะทำเป็นอุโมงค์ลอด ซึ่งจากการชี้แจงทุกฝ่ายมีความเห็นชอบในรูปแบบดังกล่าว โดยระยะเวลาการทุบสะพานและดำเนินการวางรูปแบบการจราจรบริเวณดังกล่าว จะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี จะแล้วเสร็จ”
“การประชุมรับฟังมี บทสรุปเปลี่ยนสะพานข้างทางรถไฟทำเป็นอุโมงค์ทางลอดแทน ส่วนการบริหารจัดการจราจร จากเดิมทางคู่ขนานข้างสะพานมี 2 เลนไปกลับ ขอให้ขยายเพิ่มเป็น 6 เลน ขาเข้า 3 เลนและขาออก 3 เลนและช่วงผ่านจุดตัดข้ามทางรถไฟใช้เครื่องกั้นทางรถไฟ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ”
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “สำหรับสะพานแบริ่งหรือสะพานเหล็กชั่วคราว จากการศึกษาพบว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงสร้างต้องใช้ตอม่อ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรและความสูงจะอยู่ในแนวเดียวกันกับทางรถไฟยกระดับ รวมทั้งระยะความห่างเหลือพื้นที่ไม่เพียงพอในการสัญจร”
“อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างก่อสร้างต้องยอมรับต้องเกิดปัญหาการจราจร แต่จะร่วมกันหารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 ทางหลวงชนบทนครราชสีมา ทน.นครราชสีมา จะเร่งปรับปรุงเส้นทางเชื่อมเข้าออกเมืองนครราชสีมาและเพิ่มช่องทางจราจรหรือขยายถนนให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาความคับคั่งของการจราจร ขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเข้าสู่คณะกรรมการบริหาร รฟท. เมื่อมีมติเห็นชอบก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และประกาศหาผู้รับจ้างให้โครงการเดินหน้าต่อและเสร็จตามกำหนดกรอบเวลา” นายวิเชียร กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากสรุปให้ “ทุบสะพานสีมาธานี” พร้อมสร้างทางข้ามเสมอระดับพื้นดิน มีไม้กั้นรถไฟ พร้อมเชื่อมโครงข่ายถนน แก้ปัญหารถติดช่วงการก่อสร้าง เตรียมนัดประชุมย่อยทั้ง เทศบาลนครฯ แขวงทางหลวง แขวงทางหลวงชนบท หารือต่อ เพื่อวางระบบโครงข่ายถนน ลดจราจรแออัดบนถนนมิตรภาพ จุดที่จะมีการทุบสะพานสีมาธานี แก้ปัญหารถติดช่วงการก่อสร้าง 3 ปี
โดยรถไฟทางคู่จะลอดใต้สะพานต่างระดับปักธงชัย ก่อนยกระดับขึ้น ยาวเข้ามายังสถานีรถไฟนครราชสีมา ความสูงของรถไฟทางคู่ อยู่ระดับ 2 หรือประมาณ 10 เมตร ใช้งบประมาณ 11,518 ล้านบาท
และหลังจากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการการรถไฟฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นการรถไฟฯ จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป และหาก ครม.อนุมัติ จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้เดือนกรกฎาคม 2563 แล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2566