“เทศบาลโคราช ร่วมกับ มทร.อีสาน และบริษัทเอกชน” รวมพลังพัฒนาเมืองโคราชก้าวสู่ “โคราชสมาร์ทซิตี้” เต็มรูปแบบติดกล้องวงจรปิด 200-300 ตัวในเมืองเชื่อมจราจร พัฒนาขนส่งมวลชนอัจฉริยะให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นเทศบาลแจ้งเหตุด่วนได้เลย
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2562 เทศบาลนคร นครราชสีมา โดย นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา ลงนามบันทึกความเข้าใจ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ บริษัท มัลติ อินโนเวชั่น เอนยิเนียริ่ง จำกัด โดย นายสาธิต สาตรพันธุ์ กรรมการบริหาร มัลติ อินโนเวชั่น กรุ๊ป พร้อมหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมฯและตำรวจ ในโครงการความร่วมมือพัฒนาเมือง “โคราชสมาร์ทซิตี้” ภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ เมืองปลอดภัย สู่มหานครแห่งความสุข” ณ ห้องประชุมสภาเทศบาล ชั้น 2 สำนักงานเทศบาลนคร นครราชสีมา
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา กล่าวว่า “การลงนามโครงการความร่วมมือพัฒนาเมือง “โคราชสมาร์ทซิตี้” มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองนครราชสีมาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่ง มทร.อีสาน และ บริษัท มัลติ อินโนเวชั่น เอนยิเนียริ่ง ร่วมมือกับเทศบาลนครในครั้งนี้มุ่งพัฒนาด้านการคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Mobility) เป็นหลัก โดย มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลให้ความไว้วางใจในการผู้นำทั้งด้านระบบราง ด้านอากาศยาน และด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพร้อมที่จะสนับสนุนและขับเคลื่อนเมืองโคราชสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างเต็มที่”
“ความร่วมมือครั้งนี้มี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทางบริษัทผู้ที่ดำเนินการเรื่องซอฟแวร์ มัลติ อินโนเวชั่น ที่มาช่วยกันในการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นผู้ศึกษาวิจัยการออกแบบระบบ ประสานกับหน่วยงานต่างๆ นำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ โดยเทศบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น สิ่งที่มองเรื่องสมาร์ทซิตี้ แบ่งเป็นหลากหลาย สิ่งที่เรากำลังเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ หมายความว่า เราต้องสามารถนำสิ่งต่างๆที่ในเมืองมี มาใช้ได้ และสามารถพัฒนาให้การใช้ชีวิตในเมืองง่ายขึ้น ย้ำง่ายขึ้น ปลอดภัย และสร้างความสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เมืองได้”
นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “หากถามว่าตอนนี้เทศบาลมีอะไรบ้าง ที่จะดำเนินการ คืออย่างแรก เทศบาลติดกล้องวงจรปิด 200-300 ตัวที่อยู่ในเมือง 2.มีความคิดที่จะพัฒนาขนส่งมวลชน หรือ Smart Transportation ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3. เราจะมีแอปพลิเคชั่นของเทศบาลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้คือการเซ็น MOU ทำความเข้าใจร่วมระหว่าง เมือง มหาวิทยาลัย และบริษัทผู้ที่จะพัฒนาซอฟแวร์ หรือผู้ที่จะนำเทคโนโลยีมาถ่ายทอดให้กับทางมหาวิทยาลัย เรื่องของสมาร์ทซิตี้ เรื่องของซอฟแวร์ต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร ที่เรามีกล้องอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเราดูได้เฉพาะว่าการจราจรเป็นอย่างไร ถ้าสามารถดึง มาเชื่อมโยงกับการจราจร ถ้าตำรวจกับเราสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยที่ตำรวจดู และปรับไฟต่างๆ ก็จะปรับไปเป็นไฟอัจฉริยะร่วมกันระหว่าง ตำรวจ เทศบาล และ มหาวิทยาลัย รวมถึง บริษัทซอฟแวร์ เราก็สามารถใช้ไฟจราจร กล้องที่เรามี ทำเป็นไฟอัจฉริยะได้แล้ว”
“ตอนนี้เรามีบริษัทเอกชนมาถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้กับทางมหาวิทยาลัย และเทศบาล ตำรวจ ขนส่ง มาพูดคุยกันว่าทำอย่างไรที่จะสามารถใช้ซอฟแวร์ ใช้คนในมหาวิทยาลัยมาบวกกับความต้องการของคนในเมืองว่าสามารถทำเป็นขนส่งมวลชนอัจฉริยะได้ เรามองว่าต้นทุนในการผลิตซอฟแวร์ ต้นทุนในการที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ถ้าแพง หรือใช้เงินมาก เราไม่เหมาะที่จะทำ”
นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า “วันนี้สิ่งที่เราทำได้ ก็เพราะเราสามารถที่จะใช้มหาวิทยาลัยรองรับเมืองได้ และมั่นใจว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรต่อเนื่อง เมืองที่จะก้าวต่อไปก็จะทำให้โคราช เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้โดยที่คนในเมืองผลิต และใช้บริการสิ่งเหล่านี้ได้ และจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานของคนในเมืองได้ โครงการนี้เบื้องต้นที่กำหนดไว้ว่าจะดูเฉพาะดาต้า ใช้เวลา 3 เดือน หลังจากได้ดาต้าแล้ว มั่นใจว่า ในการเขียนซอฟแวร์คู่ขนาน และการทำงาน ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน หลังจากนั้นก็จะทดสอบ ประมาณ 2-3 เดือน ถ้าโครงการเหล่านี้ไปได้ และนักศึกษามีความเข้าใจ เราจะสามารถต่อยอดได้อย่างแน่นอน”
“สมาร์ทซิตี้ เหล่านี้จะกลับไปที่เด็ก กลับไปที่มหาวิทยาลัย และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาตัวเองและต่อยอด และเข้าใจโลกมากขึ้น ต่อไปชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะดำเนินการต่อเนื่อง แจ้งเหตุด่วน แจ้งความขัดข้องทางเทคนิค เช่น ไฟไม่ติดหรือน้ำไม่ไหล อาจจะกดที่แอปพลิเคชั่นจากสถานที่ที่อยู่ และแจ้งมาได้เลย ซึ่งในอนาคตทางเทศบาลก็จะสามารถบริหารจัดการ ซ่อมแซมได้เลย”
“และในอนาคตที่เรามองต่อไปว่า ในการที่จะติด แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ไปตามรถเก็บขยะ ถ้าดำเนินการได้ เราก็จะสามารถเก็บขยะครอบคลุมพื้นที่ และไม่หลงลืม และตรงเวลามากขึ้นได้ โดยอาจแจ้งไปทางเจ้าของบ้านว่ารถขยะจะมาแล้วนะภายใน 10-15 นาที เอาขยะมาที่หน้าบ้านได้ ซึ่งขณะนี้เราก็ทำอยู่ผ่านการที่ทำความเข้าใจกัน เพราะฉะนั้น ในอนาคตวันไหนมีขยะ ปริมาณผิดปกติมาก แทนที่จะขน 2 รอบเราก็จะสามารถเปลี่ยนรถคันใหญ่ขึ้น แล้วมาใช้งานได้เลย” นายสุรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย