“นายกฯสุรวุฒิ” จัดเต็มวันพบปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงรูปแบบรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช มีปัญหาระยะยาวเมืองตันขยายไม่ได้ โชว์โมเดลให้เห็นกับตามีปัญหายังไง ยันทางรถไฟต้องยกระดับเท่านั้น และต้องทุบ 2 สะพานทั้ง“สีมาธานีและหัวทะเล” ห่วงตัวอุโมงค์ลอดสูงแค่ 3 เมตร รถดับเพลิงรถ 6 ล้อ 10 ล้อวิ่งไม่ได้วิถีชีวิตชุมชนพังทันที
หลังจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, นายกงกฤช หิรัญกิจ เจ้าของโรงแรมสีมาธานี, โยธาธิการจังหวัดนครราชสีมา, และคณะเข้าพบ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างทาง “รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่” ช่วงผ่านตัวเมืองเขตเทศบาลนครฯของจังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคมกรุงเทพมหานคร
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ให้โอกาสพี่น้องชาวโคราชได้นำเสนอ และชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องโครงการรถไฟทางคู่ในเขตเมืองโคราช หลังจากที่ทำประชาคม และได้แบบจากทางรถไฟได้มาว่าไม่ทุบสะพานสีมาธานี ผมจึงได้นำแบบไปถอดและทำโมเดลมาให้ดู ซึ่งเขาจะยกระดับดินแล้วจึงลอดใต้สะพานสีมาแล้วยกข้าม”
“สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ถนนสืบศิริซึ่งที่ผ่านมาเราตรงไป-มาได้ในอดีต จากชลประทานมาหน้าวัดใหม่อัมพวัน ก็จะกลายเป็นตัว U ซึ่งแบบนี้ไม่เวิร์ค จึงได้พูดคุยและทำโมเดลไปคุยกับการรถไฟที่ปากช่องพูดคุยแล้วว่าใช่แบบนี้หรือไม่ เราจึงนำโมเดลไปให้ปลัดกระทรวงคมนาคมดูว่าถ้าเปลี่ยนจะเป็นแบบนี้ และตัวอุโมงค์สูง 3 เมตร รถดับเพลิงวิ่งไม่ได้ รถ 6 ล้อ 10 ล้อวิ่งไม่ได้ ซึ่งตัวอย่างมีแล้วที่อ.บัวใหญ่ เราต้องขับรถอ้อมถึง 8 กม.”
“โดยช่องลอดแรกอยู่บริเวณโรงเรียนสมบูรณ์ ข้ามไปวัดกองพระทราย ซอยมอญและไปสุดโรงเรียนราชสีมา 2 ก็จะเป็นช่องลอดขนาดเดียวกันนี้หมด คือ 3 เมตรเท่านั้น ปัญหาต่อมาคือ ตัวเมืองหากมีการขยาย มีการวางท่อระบายน้ำเพิ่ม ตัดถนนเพิ่ม ก็จะเป็นปัญหาระยะยาวคือไม่สามารถขยายเมืองทิศ เหนือ ทิศใต้ได้เลย เพราะถูกแบ่งด้วยทางรถไฟ กั้นเมืองไว้ ทั้งตะวันออก ตะวันตก ซึ่งที่อ.โนนสูง อ.บัวใหญ่จะเห็น 2 ลักษณะ ที่อ.โนนสูงอุโมงค์ได้ต่ำมากเสมอระดับดินนิดเดียว แต่ที่อ.บัวใหญ่จะเห็นว่าอยู่ต่ำกว่าระดับดินเยอะมากและเป็นตัว U อ้อมขึ้น-ลง ซึ่งในแบบจริงๆ เราก็ยังไม่เห็นว่ารถไฟจะกดระดับสูงหรือต่ำ แค่ไหนในเขตเมือง แต่เราเห็นเลยว่า ที่บัวใหญ่ ที่ปากช่อง-โนนสูง ไม่มีช่องลอดอันไหนที่ประชาชนเดินทางตรงไป-มาได้ง่ายเลย”
นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “สำหรับจุดตัดหน้าจวนผู้ว่าฯ อาจสูงได้ 5 เมตร เพราะทางเข้าค่ายฯ ถ้าเรายกสถานีรถไฟจิระขึ้นไป ถามว่าทำไมไม่เอาสะพานหัวทะเลออกไปเลย ลงไปข้ามหัวทะเลแล้วไปเชื่อมทางลงตามเดิม คือเลี้ยวซ้ายไปหลังวัดทุ่งสว่าง ตรงไปก็หัวทะเล ซึ่งถ้าเอาสะพานหัวทะเลออก บริเวณใต้สะพานหัวทะเลก็จะกลายเป็นทางแยกได้ ระหว่างหัวทะเลเชื่อมเข้าเมืองก็จะตรงไป-มาได้สะดวก หากทำจริงๆแล้วไม่ต้องมีอุโมงค์กลายเป็นถนนเรียบได้ ก็จะสะดวกและไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย”
“ตนยังยืนยันให้ทุบสะพานสีมาธานี และสะพานหัวทะเลอีก 1 จุด ซึ่งทางปลัดกระทรวงคมนาคมมองว่า หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็จะรับไปแล้วเข้าสู่กระบวนการประชุมต่อไป ซึ่งภาพค่อนข้างจะเป็นบวกสำหรับการรับฟัง และทางเรามีโมเดลไปให้เห็นภาพได้ชัดเจน สำหรับงบประมาณเขตเมืองที่ทำรถไฟยกระดับ จะทำให้ต้นทุนของค่าใช้จ่ายรถไฟ หักลบกับต้นทุนที่เราต้องเติมน้ำมัน เสียโอกาสในการเดินทาง ที่ 2 ข้างทางมีปัญหาในเรื่องการเป็นที่ตายไม่สามารถค้าขายได้ และสุดท้ายคือความสุขของพี่น้องประชาชน ถ้าหากลบกันมั่นใจว่า กำไรมหาศาล เพราะท้องถิ่นก็พัฒนาต่อได้”
“นอกจากนี้ยังได้หารือปลัดกระทรวงคมนาคมต่อว่า หากในเมืองได้ยกระดับทั้งหมดแล้ว อนาคตหากเทศบาลจะขอเช่ารางรถไฟเส้นเดิมซึ่งยังคงอยู่ไม่ได้รื้อทิ้งแต่ใช่วิ่งน้อย จะขอเช่าเป็นขนส่งมวลชนได้หรือไม่ ท่านก็มองว่ามันมีความเป็นไปได้ในแง่ของการคิดลักษณะนี้ ซึ่งถ้าทำได้ก็เชื่อมรถไฟฟ้า LRT สายสีแดงที่วิ่งผ่านตรงในเมือง ก็จะทำให้มีขนส่งมวลชนใช้เลย โดยที่เทศบาล หรือพี่น้องประชาชนไม่ต้องลงทุน เราก็จะสามารถทำรถไฟมาวิ่งในราคา 5-10 บาทต่อการเดินทาง 1 ขบวน”
นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ในเรื่องการยกระดับรถไฟเราสามารถคุยได้เรื่องมีกำแพงหรือไม่มีก็ไม่ต้องกังวล แต่หากว่าไม่ยกระดับมันเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่มีกำแพงกั้นตลอดทาง กรณีตรงสีมาธานีก็เช่นกันหลังทุบสะพานเสร็จแล้วจะมีอุโมงค์ทางลอดหลังจากนั้นได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ถ้าเป็นรูปแบบที่การรถไฟเสนอไม่ต้องทุบสะพานสีมาเราไม่สามารถเห็นอุโมงค์ทางลอดแยกอัมพวันแน่นอน”
“หากยกระดับแล้วจะสร้างความสุขให้พี่น้องประชาชนชาวโคราชได้มากกว่า สัญจรได้ตรงไปตรงมา วันหน้าหากมีเงินก็ทำอุโมงค์ตามหลังก็สามารถทำได้เพราะไม่ได้ถูกจำกัดที่กรอบ เช่น ตัดซอยเพิ่ม การขยายถนน สำหรับระยะทราบผล เราทราบว่าช่วงเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ ก็จะมีการประชุมเรื่องนี้อีกครั้ง ในระดับกระทรวง เคาะว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผม และผู้ว่าราชการจังหวัด โยธาจังหวัด และประธานสภาอุตสาหกรรมไป คือเราไปในนามของพี่น้องประชาชนชาวโคราชว่าตอนนี้ปัญหาการเยียวยา ยังทำได้ง่ายเพราะยังไม่ได้ก่อสร้าง และรูปแบบที่ให้ดูอย่างชัดเจนว่าอย่างไรจึงจะอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้มากกว่า และเป็นความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในระยะยาวอีกด้วย”
“สำหรับงบประมาณที่จะทุบทั้ง 2 สะพานคืออยู่ในกรอบ อยู่ที่ว่าเราจะทำอุโมงค์ขนาดไหน และอีกเรื่องคือ ยกระดับรถไฟ ทำอุโมงค์เฟส 1 เฟส 2 ทำอุโมงค์ 2 จุด หรือไม่ทำอุโมงค์ หรือทำจุดเดียว ซึ่งตนมั่นใจว่าถ้ายกระดับทางรถไฟก่อนแล้วทำอุโมงค์ตามหลัง โดยที่จะให้ท้องถิ่นช่วยหรืออะไร ก็มั่นใจว่างบประมาณสามารถพูดคุยกันได้ เอาหลายๆปัญหามารวมกัน แต่ตนมองว่าหากเราแก้ปัญหาเดียวให้จบก่อน เราก็สามารถทำต่อได้คาดหวังว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้การรถไฟจะมีการสรุปแบบทั้งหมด ชาวโคราชจะได้ฟังข่าวดีเช่นกัน” นายสุรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย