คณะอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำนักศึกษากว่า 50 คนบุกเมืองโคราช ร่วมทำโปรเจ็กต์ปรับปรุบภูมิทัศน์พื้นที่รอบลานย่าโม ทั้งคูเมืองและสวนอนุสรณ์สถาน เผยขาดพื้นที่สีเขียว โคราชเป็นเมืองเก่ามีวัดเก่าโบราณ ต้องเชื่อมโยงพร้อมระบบนิเวศน์ ยังไม่มีแลนด์มาร์คดึงดูด การเดินทางมายังไม่สะดวก
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2562 ที่ห้องนางสาวบุญเหลือ ชั้น2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา คณะอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.อริยา อรุณินท์ ได้นำนิสิตนักศึกษาปีที่3 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำนวน 47 คน ได้มาศึกษาออกแบบเมืองโคราช คูเมือง ลานย่าโม และสวนสาธารณะในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วย ผังเมือง จ.นครราชสีมา และเภสัชกรจักริน เชิดฉาย ให้การต้อนรับ หลังจากประชุมเสร็จกลุ่มคณะสถาปัตย์จุฬาฯ ได้เดินทางไปสักการะท้าวสุรนารี และเดินชมสำรวจพื้นที่โดยรอบคูเมือง ลานอนุสรณ์สถาน ข้างลานย่าโม ฯลฯ
เภสัชกรจักริน เชิดฉาย ประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราช กล่าวว่า “บังเอิญตนจบเภสัชจุฬาฯ และได้มีรุ่นน้องมาคุยเองสภาพลเมือง ก็เลยถามว่าทำไมถึงจะมีคนมาปรับปรุงคูเมืองให้สวยงาม หาคนมาออกแบบได้มั้ยก็เลยมีการประสานไปที่ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับการตอบรับจาก รศ.ดร.อริยา อรุณินท์ จะพานักศึกษามาดูงานที่โคราช และเป็นโครงการของคณะประจำปีด้วย น่าจะได้ไอเดียเพื่อนำมาปรับปรุงที่แห่งนี้ของเมืองโคราชต่อไป”
“วันนี้จึงเป็นการนำคณะอาจารย์รศ.ดร.อริยา อรุณินท์ และนิสิตมาชมคูเมืองฝั่งข้างลานย่าโม และลานอนุสรณ์สถาน ข้างลานย่าโมที่ปัจจุบันมีสภาพที่ไม่สวยงาม สมกับโคราชเป็นเมืองเก่าเมืองโบราณ เพราะแวดล้อมไปด้วยกำแพงเมืองคูเมืองทั้ง 4 ทิศที่สร้างไว้เพื่อป้องกันข้าศึก ซึ่งเคยปรับปรุงไปแล้วเมื่อปี 2548-2549 แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างแท้จริง ทำให้บริเวณลานอนุสรณ์สถาน มีสภาพทรุดโทรมไม่สมกับเป็นสวนสาธารณะที่จะให้ประชาชนมาเดินเล่นหรือพักผ่อนหย่อนใจ ตนจึงให้มาศึกษาออกแบบเมืองโคราช คูเมือง ลานย่าโม และสวนสาธารณะแห่งนี้ให้สวยงามต่อไป” เภสัชกรจักริน กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.อริยา อรุณินท์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “หลังจากมาชมสภาพคูเมืองและสวนสาธารณะที่โคราชแล้ว คงต้องใช้โครงการนี้เป็นโปรเจ็กต์ให้นิสิตทำ ซึ่งโปรเจ็กต์ของนิสิตก็จะมีเช่นทำเมืองที่เราเคยไปทำที่ประจวบ อ่างศิลาเป็นต้น”
“อย่างบริเวณโดยรอบเป็นแนวคูเมืองและสวน ควรทำลานที่มีประโยชน์ปลูกต้นไม้และใช้น้ำเป็นแนวทางเป็นเครือข่ายพื้นที่สีเขียว รวมทั้งภูมิทัศน์ศิลปวัฒนธรรมเพราะโคราชเป็นเมืองเก่ามีวัดเก่าโบราณ มีสระแก้ว สระขวัญ เชื่อมโยงแต่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศน์ด้วย”
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา กล่าวว่า “อย่างแรกที่เดินดูแล้วเห็นก็คือคนให้ความสนใจและสามารถพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ ซึ่งยังไงคนที่มาเดินชมก็ให้ความสนใจอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้คนเห็นความสำคัญที่มีอยู่ในอดีตของพื้นที่สวนอนุสรณ์สถานตรงนี้ และต้องทำให้ภูมิทัศน์ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
“เพราะพอเข้ามาแล้วรู้สึกร้อนมาก และความหมายของสถานที่ๆต้องการสื่อต้องเกิดจากอารมณ์ของเขาด้วย และไม่มีทางที่จะได้รับรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์ตรงนี้เลย เพราะมาดูแล้วร้อนรีบมารีบไป สิ่งแวดล้อมสำคัญมาก โดยต้องทำของที่มีอยู่ให้ออกมาให้ดีด้วยโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับคนที่เข้ามาชมให้ได้รับประโยชน์สูงสุด”
“บางจุดที่เป็นแลนด์มาร์คของสวนอนุสรณ์สถาน ยังไม่เห็นเท่าที่ควร อาจจะโดนบังโดยสิ่งก่อสร้างบางอย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องอนุรักษ์ยังไม่เด่นเท่าที่ควร และเรื่องการคมนาคมด้านการโดยสารสาธารณะเพื่อมาที่นี่บริเวณโดยรอบยังไม่โอเคต้องพัฒนาอีก”