“กลุ่มโคราชเพื่อโคราช”ไม่ได้มาเล่นๆ เมืองโคราชจะก้าวสู่ “สมาร์ทซิตี้” อย่างแท้จริง! ต้องมี “สภาพลเมืองโคราช” หนึ่งในแนวทางที่ต้องเป็นจริงให้ได้ของ“กลุ่มโคราชเพื่อโคราช” จัดเสวนานัดแรกสุดปัง! ชาวโคราชที่มาร่วมฟังเห็นด้วยเพราะเป็นการให้เกียรติความคิด ความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเมืองโคราชเป็นรูปธรรมอย่างเสมอภาค ยกขอนแก่นเป็นต้นแบบ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2561 ที่ชั้นG ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21โคราช “กลุ่มโคราชเพื่อโคราช” นำโดย เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา และแกนนำกลุ่มพร้อมด้วยสมาชิก ได้จัดเสวนา “ถึงเวลา..สภาพลเมือง?” โดยมี นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ร่วมเสวนา ดร.ชัยภัฎ จันทร์วิไล นักวิชาการ และคุณมยุรา พึ่งทหาร เลขานุการศูนย์พัฒนาชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุและประชาชนฯ นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจ อาทิ นายอรชัย ปุณณะนิธิ กรรมการหอการค้าโคราช, นายอภิชาติ จงเจริญใจ, นายอนันต์ สินมานนท์ ฯลฯ พร้อมด้วยประชาชน และนักศึกษา ผู้พิการมาร่วมฟังกว่า 500 คน
เภสัชกรจักริน เชิดฉาย แกนนำ“กลุ่มโคราชเพื่อโคราช” กล่าวว่า “แนวคิดพัฒนา “สภาพลเมืองโคราช” จุดเริ่มต้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อยากให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะท้องถิ่น จึงคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่การพัฒนาบ้านเมือง ประชาชนควรมีส่วนร่วม เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว ทำให้โครงการต่างๆที่จะมาในโคราชมีมาก แต่ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง”
“ซึ่งที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้ทำงานหลายบทบาทในฐานะประธานหอการค้าโคราช ก็คิดว่าบทบาทภาคเอกชนสำคัญ เพราะเรื่องในท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นย่อมรู้ดี จึงคิดว่าถ้าหากมีเวทีให้พี่น้องประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมพัฒนาในท้องถิ่นของตนเอง คิดว่าจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันให้คำแนะนำ และเป็นสภาตรวจสอบด้วยก็จะเกิดประโยชน์อย่างที่สุดกับชาวโคราชมากกว่าที่เป็นอยู่”
“สำหรับประชาชนข้อมูลที่ได้รับการทำประชาคม ส่วนมากจะได้รับจากท้องถิ่นที่จะให้ แต่จะเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวที่เขาต้องการจะให้ เพื่อจะเกิดประโยชน์บางเรื่องที่ต้องการหรือเปล่า ในมุมมองตนคิดว่า วันนี้จะเกิดประโยชน์จริงๆถ้าพี่น้องประชาชนได้รวมตัวกัน นำเสนอต่อท้องถิ่นในสิ่งที่ประชาชนคิดและอยากให้ทำจริงๆ โดยได้ข้อมูลครบถ้วน เพราะมันต้องมีองค์ประกอบว่ามีทั้งพี่น้องประชาชน ในส่วนคหบดี นักธุรกิจ พี่น้องชุมชน ผู้พิการ แม้แต่เยาวชนต้องได้มาพูดคุยกัน ขณะเดียวกันต้องได้รับข้อมูลครบถ้วนทุกด้าน เราก็จะสามารถนำเสนอได้ในการพัฒนาเมือง ในเรื่องต่างๆและช่วยกันแก้ปัญหาได้”
เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ท้องถิ่นหรือผู้มีอำนาจต้องยอมรับบทบาทตรงนี้ของภาคประชาชนด้วย ต้องไม่ลำเอียงจริงๆ เพราะทุกคนก็อยากเห็นบ้านเมืองของตนพัฒนา หากว่ามีสภาพลเมืองเกิดขึ้นสิ่งที่จะได้ อย่างเช่นปัญหาจราจร สิ่งแวดล้อม เรื่องการท่องเที่ยว ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมจะทำให้ไม่เกิดการทะเลาะกัน เราจะได้ข้อยุติตั้งแต่แรก”
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า การแก้ไขระบบการจราจรในเขตเมือง วันนี้เราพูดกันหลายรอบและไปคนละทิศคนละทาง ถ้าเรามีสภาพลเมือง เกิดขึ้นตั้งแต่แรก และท้องถิ่นยอมรับบทบาทของภาคประชาชน เราจะไม่ทะเลาะกัน เราจะได้ข้อมูลที่ไปในแนวทางเดียวกัน และร่วมคิดร่วมแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆกัน หลายโครงการที่เราล่าช้า ทั้งเรื่องแก้ไขระบบจราจร เช่น รถไฟทางคู่หลายจังหวัดได้ไปแล้ว อย่างขอนแก่นจะเปิดอยู่เดือนหน้า แต่โคราชยังตัดสินใจไม่ได้ ถ้าเรามีกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก คิดว่าจะเกิดและมีผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างดีที่สุด”
“ที่ผ่านมาในโคราชยังไม่เคยเห็นมี “สภาพลเมือง” แบบเป็นรูปธรรม ก่อนหน้านี้มี “สภาองค์กรชุมชน” แต่ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนที่ผ่านองค์กรนี้จริงๆ แต่ที่สุดแล้วท้องถิ่นต้องให้การยอมรับบทบาทขององค์กรที่จะเกิดขึ้นของภาคประชาชน จึงจะสามารถขับเคลื่อนไปได้จริงๆ ถ้าหากจัดตั้งขึ้นมาโดยที่ท้องถิ่นไม่ให้การยอมรับ นำเสนอไปแล้วไม่รับฟังก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”
“แต่หลายๆแห่งที่เกิดขึ้นและสามารถเกิดประโยชน์ได้จริง อย่างเช่น จังหวัดขอนแก่น “สภาเมืองขอนแก่น” เขามีมาหลายปีแล้ว อย่างปัญหาจราจร เค้าก็ได้คุยกันในสภาเมือง และก็ร่วมกันเดินไปพร้อมๆกัน แต่โคราชเรายังไม่เห็นตรงนี้เลย ทางกลุ่มโคราชเพื่อโคราช จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง เพื่อประโยชน์ของชาวโคราชทั้งหมด” เภสัชกรจักริน กล่าวทิ้งท้าย