อาถรรพ์เลข 13 ยิ่งกว่าเด็ก 13 หมูป่าติดถ้ำหลวงเป็นข่าวดังไปทั้งโลก ก็เหตุการณ์คนหลายชีวิตติดซากตึกโรงแรมถล่มที่โคราช ย้อนรำลึกโศกนาฏกรรมที่ดังสนั่นไปทั่วโลกเกิดขึ้นที่กลางใจเมืองโคราช เมื่อ 25 ปีที่แล้ว เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 เวลา 4 โมงเช้า เมื่อโรงแรมชื่อดังในสมัยนั้น “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” เป็นโรงแรมครบวงจรที่มีสถานบันเทิงครบครัน ได้เกิดถล่มลงมาทั้งตึก คร่าชีวิตไปถึง 137 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก  

“โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม” กลายเป็นเหตุการณ์อีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ หายนะช็อกโลกที่ชาวโคราชต้องจดจำถึงทุกวันนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ได้เกิดโศกนาฏกรรมอาคาร โรงแรมรอยัลพลาซ่า ตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์ และถนนโพธิ์กลาง เพราะสามารถเข้า-ออกได้ 2 ทาง กลางเมืองโคราช ถล่มลงมา เมื่อเวลา 10.12 น.เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน บาดเจ็บ 227 คน

โดยขณะเกิดเหตุมีการอบรมสัมมนาซึ่งมีผู้อยู่ในอาคารทั้งหมดกว่า 400 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 47 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมและพนักงานโรงแรม  ด้านการกู้ภัยได้รับการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตในซากตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าขณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีผู้ประสบเหตุจำนวนมากและไม่มีเครื่องมือหนักในการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งการระดมความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ชื่อเดิมคือ โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา ที่ถูกมองว่าเป็นโรงแรมที่มีอาบ-นวดใหญ่ที่สุดในโคราช และมีการดำเนินธุรกิจล้มเหลวจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดทรัพย์ ก่อนที่ผู้ถือหุ้นชุดใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ และได้ฟื้นฟูกิจการ โดยมี นายเลอพงษ์ พัฒนจิตวิไล เป็นประธานบริษัทฯ นายชาตรี ล้อเลิศรัตน, นายสัญชัย สุรโชติมงคล, นายซิม แตมสำราญ, นายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศรีกุล เป็นกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหารโรงแรมคือ นายวิทยา วงศวัชรกาญจน์ เป็นผู้จัดการทั่วไป แต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว

ส่วนสาเหตุของตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มนั้น เกิดจากการที่ โรงแรมรอยัลพลาซ่า หลังจากได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา” เป็น “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีสถานบันเทิงครบครันอาทิ อาบอบนวด คาเฟ่ เอ็กเซ็คคิวทีฟผับ เลเซอร์เธค บาร์เบอร์ เป็นโรงแรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ได้ปรับปรุงใหม่และมีการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็นอาคาร 6 ชั้น พร้อมห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่อยู่ชั้น 6

นอกจากโปรเจ็กต์ขยายตึกโรงแรมเป็น 6 ชั้นแล้ว ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำอีกคือ ปรับปรุงคาเฟ่ ซึ่งเป็นแม่เหล็กสถานบันเทิงที่ทำรายได้ดีใหม่ทั้งหมด พร้อมกับจะ สร้างอาคารจอดรถสูง 8 ชั้นที่ใช้งบสูงถึง 30 ล้าน สามารถจอดรถได้ 400 คัน และสุดท้ายเป็นการจัดงานใหญ่ ฉลองครบรอบ 10 ปีโรงแรมในเดือนพฤศจิกายน 2536 แต่เกิดเหตุการณ์โรงแรมถล่มในวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ก่อน

เหตุการณ์อาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าโคราชถล่ม กลายเป็นข่าวดังช่วงนั้นอย่างมาก สำนักข่าวดังทั้งในและต่างประเทศมุ่งสู่เมืองโคราช เสนอข่าวนี้ตลอด 1 เดือนเต็ม เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตและติดอยูในซากตึกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ข่าวโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มถือได้ว่าเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ซึ่งในวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปีครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต นำโดย นายชวลิต ตันฑเศรณีวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ที่เสียขาทั้งสองข้างจากตึกถล่ม ได้รวมตัวกัน ทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำทุกปี ก็เพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน

ขณะที่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆได้สิ้นสุดคดีเมื่อปลายปี 2543 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นจำเลยที่1 ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลจากคำพิพากษา เพราะผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างโดยได้ว่าจ้างวิศวกรคือ นายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรม ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ในส่วนคดีแพ่งนั้นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเตล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด ทางโรงแรมได้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม 5 ล้านบาท และเงินที่รับบริจาคอีก 5 แสนบาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ 80,000 บาท และผู้พิการได้รับรายละ 50,000 บาท

เหตุการณ์ช็อกโลกที่โคราชครั้งนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์และเป็นคดีตัวอย่างให้กับผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ถึงการดำเนินการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตแบบแปลนก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามหลัก พรบ.ควบคุมอาคาร จากการต่อเติมโรงแรมเพิ่มอีก 3 ชั้น ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว

อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน เมื่อเสาที่ตั้งอยู่บนคานแบกรับน้ำหนักมากเกินไป จึงทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้น 2 ทำให้โครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตามและส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด และเหตุการณ์ภาพตึกกำลังถล่มลงมาเป็นเวลาเดียวกันที่ นายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเดินทางมาถึงโรงแรมพอดีและเห็นภาพอาคารถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา

สถานที่ปัจจุบันที่ดินของอดีตโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มกลางเมืองโคราช เป็นกรรมสิทธิ์ของ “ศิลาปาร์ค” เจ้าของโรงแรมดิไอยรา