คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ชี้การออกระเบียบ “ห้ามจ้างพนักงานหรือลูกจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณเกินวุฒิและไม่ให้เลื่อนเงินเดือนขึ้น” นั้นเป็นประกาศที่ขาดความรอบคอบจี้ทบทวนและยกเลิกก่อนปัญหาจะบานปลาย

จากกรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ระบุว่า กรณีส่วนราชการมีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานหรือลูกจ้างให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน โดยกระทรวงการคลังไม่อนุญาตให้จ้างเกินวุฒิและไม่อนุญาตให้ขึ้นเงินเดือน ซึ่งทุกส่วนราชการที่จะจ้างพนักงานหรือลูกจ้างต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในวงของบุคลาการทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยสังกัดของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 61 ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “จากการศึกษาระเบียบฉบับนี้ ที่ทางกระทรวงการคลังออกมา ตนเชื่อว่ามีเจตนารมณ์ที่จะจัดระเบียบการจ้างบุคลากรโดยการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่กระทรวงสาธารณสุขลำดับแรก แต่ภายหลังจากที่ออกประกาศฉบับนี้มา บรรดาบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าบรรดาบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่จ้างนอกงบประมาณไม่เข้ากับระเบียบนี้ ซึ่งหมายความว่าการออกมาเคลื่อนไหวของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขได้ผล”

“โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกมาชี้แจงแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้ก่อนแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขก็มีระเบียบของตัวเองที่สามารถใช้เงินนอกงบประมาณจ้างลูกจ้าง หรืออาจจะเรียกชื่ออื่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามองในส่วนของมหาวิทยาลัย ก็ต้องขอคำชี้แจงจากกระทรวงการคลังเช่นกัน”

“สำหรับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล หรือมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะถือว่าไม่ใช่ส่วนราชการ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น จำเป็นจะต้องใช้ระเบียบฉบับนี้หรือไม่ ถ้ากระทรวงการคลังบอกว่าจำเป็น ตนเองก็ฟันธงเลยว่าต้องมีปัญหามากแน่นอน”

“ปัญหาแรกคือการใช้เงินนอกงบประมาณของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินรายได้ที่เก็บมาจากค่าเทอมของนักศึกษา หรือเงินบำรุงการศึกษา ซึ่งแทบจะทุกแห่งตนเชื่อว่าระหว่างเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล กับเงินรายได้ที่เก็บจากค่าเทอมนักศึกษา มีสัดส่วน 50 ต่อ 50 เปอร์เซ็นต์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักๆ มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทที่หนึ่งคือสายวิชาการ ประเภทที่สองคือสายสนับสนุน หลายมหาวิทยาลัยใช้เงินนอกงบประมาณจ้างถึงครึ่ง เพราะสายวิชาการถ้าจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ ถ้ายึดตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ระเบียบฉบับใหม่นี้เขียนขึ้นมาหยิบย่อย เช่น ต้องทำสัญญาปีต่อปี และไม่มีการขึ้นเงินเดือนให้ ตนจึงมองว่าเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน”

“โดยเฉพาะปัญหาไม่มีแรงจูงใจที่จะดึงบุคลากรเก่งๆ เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย และจะกระทบการจ้างอาจารย์ประจำหลักสูตรด้วย เพราะอาจารย์ประจำหลักสูตรจะต้องมีความต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็หมายความว่าหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน จึงกระทบกับสายวิชาการเต็มๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้คุณภาพของการศึกษาบรรลุจุดประสงค์ตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2558”

“นอกจากนี้ในส่วนของสายสนับสนุน การจ้างคนก็จะจ้างได้ตามภาระงาน แต่ตนดูจากเจตนาแล้วระเบียบฉบับนี้ไม่น่าจะเข้าข่ายนำมาใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล เพราะโดยเจตจำนงของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ โดยมีสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ควบคุมดูแล และที่สำคัญสภามหาวิทยาลัยก็ออกข้อบังคับว่าด้วยการใช้งบประมาณที่ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินนอกงบประมาณ จึงคล้ายกับกระทรวงสาธารณสุขที่มีการออกระเบียบเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งทางกรมบัญชีกลางก็ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่เข้าข่าย”

“ดังนั้นตนจึงอยากให้ทางกระทรวงการคลังได้ออกมาชี้แจงให้ชัด ว่าระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับการใช้เงินนอกระบบจ้างบุคลากร โดยเฉพาะการจ้างอาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน ของมหาวิทยาลัยของรัฐบาลหรือไม่ ถ้ามีผลบังคับกับมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการตนจึงขอให้กระทรวงการคลังทบทวนหรือยกเลิกเนื่องจากเป็นการออกระเบียบที่ขาดความรอบคอบมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ ก่อนที่ปัญหานี้จะบานปลายออกไป” ผศ.ดร.อดิศรฯ กล่าว.