กลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “รำวงคองก้าบ้านสระเพนียด” อ.บัวใหญ่ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎโคราช เตรียมปัดฝุ่นฟื้นชีพ “รำวงคองก้า” การละเล่นโบราณ 80 ปีที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2480 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นายประพัทธพงศ์ พราหมณี นายอำเภอบัวใหญ่ร่วมกับ นางทองคูณ แสนสี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองบัวสะอาด จัดให้มีการฟื้นฟูศิลปะการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน “รำวงคองก้า” ขึ้น โดยกลุ่มผู้สูงอายุบ้านสระพะเนียดเขตเทศบาลหนองบัวสะอาด นำโดยคุณแม่ซ่า นาบุญ อายุ 80 ปีปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ชักชวนกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านร่วมกันนำการละเล่นสมัยเก่ามาปัดฝุ่นให้คนรุ่นหลัง ร่วมกันสืบสานอนุรักษ์และเพื่อการสันทนาการภายในหมู่บ้าน

ซึ่งวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนภาคอีสานจะมีงาน “บุญตามฮีตสิบสอง (ประเพณี 12 เดือน)” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีสานที่อยู่คู่กันมาเนิ่นนาน การละเล่นจึงเป็นไปในลักษณะเพื่อความบันเทิงและเล่นกันในช่วงว่างเว้นจากการทำนา

สำหรับ “รำวงคองก้า” นั้นเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2480 หรือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์สงคราม ผู้คนยากลำบาก จึงมีการรื้อฟื้นการละเล่นพื้นบ้านมาสร้างบรรยากาศให้รื่นรมย์กัน โดยใช้การละเล่นรำโทนที่คนทั่วไปรู้จัก

แต่เมื่อ จอมพลป.พิบูลสงคราม รณรงค์เรื่องนี้ จึงมีการจัดระเบียบรำโทนโดยคิดท่ารำต่างๆให้เป็นแบบแผนขึ้นเพื่อต้องการให้ชาติมีอารยะตามแบบอย่างชาติตะวันตกที่เจริญแล้ว เรียกว่า “รำวงคองก้า” มีการกำหนดท่ามาตรฐานมาจนถึงทุกวันนี้ จึงกล่าวได้ว่า “รำวงคองก้า” เป็นการผสานกันระหว่างการแสดงรำวงพื้นบ้านไทยและศิลปะการแสดงที่ได้เข้ามาจากต่างประเทศ โดยจะร่ายรำตามจังหวะเสียงกลองและเพลงประกอบ

การร่ายรำที่เป็นจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของ “รำวงคองก้า” คือการยักไหล่ และการทิ้งสะโพก ตามแบบการเต้นรำของต่างประเทศ ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบการร่ายรำที่สำคัญ คือ กลอง 2 หน้า(กลองคองก้าหรือกลองทอมบ้า)  จนเกิดคณะรำวงคองก้า กระจายตัวไปในทั่วทั้งภาคอีสาน แต่เมื่อนานวันเข้าคณะรำวงคองก้าหลายคณะได้เลิกรากันไปตามกาลเวลา

จากการเปิดเผยของ นางณิณัฎฐ์ษา คือพันดุง ปลัดเทศบาลหนองบัวสะอาด กล่าวว่า “ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านรำวงคองก้าบ้านสระเพนียด ได้ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดการ “รำวงคองก้า” โดยจะมีการเพิ่มในส่วนของการแต่งกาย ท่าเต้นและดนตรีให้ร่วมสมัยเพื่อที่จะทำให้รำวงคองก้าเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น”

“การละเล่น “รำวงคองก้าบ้านสระเพนียด” นั้นจะเป็นไปในลักษณะการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน และภูมิปัญญาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี สำหรับท่านใดที่สนใจการละเล่นรำวงคองก้าติดต่อสอบถามได้ที่ เทศบาลตำบลหนองบัวสะอาด อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา 044-756- 257 ในวันและเวลาราชการ”