รฟม.พร้อมเดินหน้าสานฝันชาวโคราช พร้อมลุย “รถไฟรางเบา LRT” หรือ “แทรมโคราช” มูลค่า 7,200 ล้าน เริ่มสายแรกสีเขียวจากเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ แก้ปัญหาจราจรและฟื้นฟูเมืองเก่า ค่าก่อสร้างกิโลเมตรละ 600 ล้านบาท สตาร์ทค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท คาดเริ่มสร้างปี 2565 ได้ใช้ 2568

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์  สกุลลิขเรศสีมา รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายสาโรจน์  ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 งานสรุปผลการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)

โดยมีนายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายชัชวาล วงจร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตปธ.หอการค้าฯ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนจำนวน 500 คน รับฟังผู้แทนบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการชี้แจงผลการศึกษา มาตรการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนการดำเนินงานการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

นายสาโรจน์ ผช.ผว.รฟม. เปิดเผยว่า ผลการศึกษาโดยสรุประบุ รถรางไฟฟ้า (แทรมโคราช)  มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือรางบนถนน มีรูปแบบคล้ายรถไฟฟ้า MRT แต่มีขนาดเล็กกว่า ใช้เส้นทางสายสีเขียว รวมระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง จำนวน 21 สถานี ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สามแยกปักธงชัย มิตรภาพ 2 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สวนภูมิรักษ์ หัวรถไฟ เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ศาลเจ้าวัดแจ้ง โพธิ์กลาง อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แยกประปา โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

ส่วนขากลับ เมื่อผ่านลานย่าโม ใช้แนวเส้นทาง ถ.ชุมพล ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เข้าสู่ ถ.จอมสุรางค์ยาตร์ ผ่านที่ทำการไปรษณีย์จอมสุรางค์ยาตร์ วัดแจ้งในและดับเพลิง เพื่อลดปัญหาช่วงผ่าน ถ.โพธิ์กลาง ซึ่งมีพื้นผิวจราจรไม่เหมาะกับระบบรางคู่ จากนั้นเข้าสู่เส้นทางเดิมผ่านสถานีหัวรถไฟ อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 14 บาท และเพิ่ม 1 บาท คิดจากจำนวนสถานีปลายทาง

หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบและผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ขั้นตอนต่อไปเป็นการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและอนุมัติ เบื้องต้นประมาณการกิโลเมตรละ 600 ล้านบาท รวมมูลค่า 7,200 ล้านบาท สามารถดำเนินก่อสร้างโครงการปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี ประมาณช่วงปลายปี 2568 ชาวโคราชจะได้ใช้รถรางไฟฟ้าสายสีเขียว

นายสุรวุฒิ นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยในฐานะตัวแทนชาวโคราชว่า “สิ่งสำคัญของการดำเนินโครงการต้องการแก้ไขปัญหาจราจรหรือฟื้นฟูตัวเมืองเก่า หากปรับเปลี่ยนเส้นทางตามความเหมาะสมกับบริบทของลักษณะกายภาพ และตอบโจทย์ให้ครอบคลุมรวมทั้งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อเสนอแนะบริษัทที่ปรึกษาใช้แนวเส้นทาง ถ.มิตรภาพ เป็นหลัก ผ่านวัดโคกพรม ห้างเดอะมอลล์ฯลฯ”

“ซึ่งเทศบาลนครนครราชสีมา มีรถบัสชานต่ำที่ให้บริการรับ-ส่ง นักเรียน จำนวน 4 สถาบัน ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็นประจำ โดยยินดีให้นำมาทดลองวิ่ง เพื่อหาผลการศึกษา นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น”