“กรมทางหลวง” ลุยแล้วฟื้นชีพโปรเจ็กต์เก่า “ทางลอดแยกบิ๊กซี” หรือแยกเทอร์มินอล21โคราช มูลค่า 800 ล้าน หลังเคยถูกชาวโคราชคัดค้านและเบรกโครงการไป 13 ปี พร้อมรีเทิร์นกลับมา และยังอยู่ระหว่างการจัดทำ EIA ส่วน “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” 1,600 ล้าน เล็งสร้างพร้อมกันเป็น “อุโมงค์ทางลอดแพ็กคู่” จะได้แก้ปัญหาช่วงก่อสร้างครั้งเดียวจบ ประชุมหารือนัดแรกฉลุยไม่มีคนค้านเดินหน้าแน่นอน

เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2563 ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการจัดเวทีประชุมหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์จุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมาหรือทางแยกบิ๊กซีโคราช) จ.นครราชสีมา

โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 200 คน สำหรับโครงการ “อุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซี” เป็นโครงการที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ เมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา แต่โครงการต้องระงับ เนื่องจากในขณะนั้น มีประชาชน ภาคเอกชน นักธุรกิจหลายฝ่ายหวั่นจะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจการค้า และหวั่นเกิดอุบัติเหตุในอุโมงค์เพราะเป็นอุโมงค์ทางโค้ง การดำเนินโครงการจึงต้องระงับไป

นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 กล่าวว่า “ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นทางลอดแยกบิ๊กซีครั้งที่แล้วปี 2560 ที่เทอร์มินอล เป็นการพูดคุยความเห็นในภาครวม 2 โครงการคือ โครงการทางลอดแยกประโดก กับ ทางลอดแยกบิ๊กซีหรือแยกเทอร์มินอล ว่าชาวโคราชทุกท่านเห็นเป็นอย่างไร เป็นการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนอย่างเดียวเลย ไม่ได้เจาะจงด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านโครงสร้าง แต่วันนี้จะเป็นประเด็นเฉพาะตัวอุโมงค์ตรงบิ๊กซีเลย บริเวณเดียว โครงการเดียว เจาะจงประเด็นเดียวเพื่อเราจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA”

“นอกจากเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องการจราจรช่วงก่อสร้าง โครงการนี้อยู่ในรัศมีที่มีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน จึงต้องมีมาตรการเพิ่มเติมคือมีประตูเมือง ประตูชุมพล ในรัศมี 1 กม. ทำให้ต้องมีการศึกษามาตรการเพิ่มเติมด้วย วันนี้ก็เป็นกระบวนการที่เจาะจงเรื่องมาตรการนั้น เป็นการทำ EIA ส่วนรูปแบบทางลอดถือว่าจบแล้ว เราเดินหน้าโครงการตามรูปแบบนั้น”

“วันนี้เพียงแค่ต้องเสริมรูปแบบ ด้าน EIA ก่อน ว่าในระหว่างการก่อสร้างจะต้องมีมาตรการอะไรที่ต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโบราณสถานเหล่านั้นด้วย  นอกจากนั้นประเด็นเรื่องผลกระทบด้านชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังสอดแทรกในการศึกษานี้ด้วยเช่นกัน ควายาวระยะของอุโมงค์ทางลอด ยังคงเท่าเดิมเรายังยึดโดยอ้างอิงแบบตัวเดิม ยกเว้นว่าวันนี้ที่ประชุมมีคอมเม้นต์เช่น ห่วงเรื่องการซื้อการขาย ระหว่างการก่อสร้าง การจอดรถ ซึ่งกำลังนำไปปรับปรุงระหว่างการก่อสร้าง หรือที่ประชุมห่วงเรื่องความสวยงามอยากให้อุโมงค์มีความโดดเด่นเพิ่มเติม แปลว่ารูปแบบอาจจะต้องเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน”

นายพรชัย กล่าวอีกว่า “และสำหรับอุโมงค์ทางลอดแยกประโดก จะสัมพันธ์กับการก่อสร้างหรือไม่ ในเบื้องต้นฝ่ายวางแผนมองว่า ถ้าทั้ง 2ทางลอดก่อสร้างไปพร้อมกัน เพื่อการวางแผนในการจัดการจราจร และก่อสร้าง ในกรณีที่ยังมีผู้คัดค้าน โดยที่เราวางแผนออกแบบพัฒนาเมือง อันดับแรก เราแก้ไขปัญหาจุดตัดที่ปริมาณรถคับคั่งก็คือทางแยกอย่างไร”

“การมีอุโมงค์ทางลอด ทางแยกไม่ได้หายไป แต่เราได้พื้นที่อุโมงค์เพิ่มขึ้น อีก 2 ช่องจราจร แต่ละประเด็น ภาครัฐต้องมองว่าเป็นความคุ้มค่า ถ้าไม่คุ้มค่าก็ไม่เอางบประมาณมาให้เกิดความเสียหาย งบการลงทุนทางลอดแยกบิ๊กซีเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท แต่วันนี้ผ่านมา 13 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ทั้งการก่อสร้างวัสดุ การจราจรเปลี่ยนไป มูลค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่เกิน 800 ล้านบาท ระยะเวลาการสร้างจะเริ่มนับจากได้งบประมาณ เมื่อจัดซื้อจัดจ้างได้แล้วคือ 2 ปี ส่วนทางลอดแยกประโดก ประมาณ 3 ปีเพราะใหญ่กว่า ตั้งงบไว้ไม่เกิน 1,600 ล้าน” นายพรชัย กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ อุโมงค์ “ทางลอดแยกเทอร์มินอล” มีความยาว 929 เมตร ความยาวอุโมงค์ช่วงปิด 126 เมตรสามารถรองรับความเร็ว ออกแบบได้ 50 กม. / ชม และรูปแบบถนนระดับดินจะออกแบบให้มีขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดขอนแก่น) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องละ 3.00 ถึง 3.25 เมตร และออกแบบให้มี 3 ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดสระบุรี) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรช่องละ 3.00 เมตรถึง 3.25 เมตร

โดย “กรมทางหลวง” จะจัดการประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ทางลอดแยกเทอร์มินอล” ขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คาดว่าหากขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อยจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565