ปิดฉากมหากาพย์ “รถไฟทางคู่” ผ่ากลางเมืองโคราชเสียงแตก! ทุบ-ข้าม-ลอด “สะพานสีมาธานี” ผู้ว่าฯ-รฟท.-เอกชน ประชุมครั้งสุดท้าย เห็นร่วมกัน “ทุบสะพานสีมาธานี” พร้อมสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกอัมพวัน แต่ต้องสร้างสะพานข้าม 2 ฝั่งชั่วคราวแก้จราจรช่วงทุบสะพาน เริ่มลุยกลางปี 2563 เสร็จปี2566 ส่วน “สะพานหัวทะเล” คนละสัญญารถไฟทางคู่กับช่วงมาบกะเบา-สถานีจิระ แต่ยังมีความหวังแก้ไขได้

หลังจากการประชุมครั้งล่าสุด ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอรูปแบบการทำอุโมงค์ทางลอดแยกอัมพวัน ต้องทุบสะพานสีมาธานี ส่วนทางรถไฟจะยกระดับจากสะพานสามแยกปักฯเข้ามาในตัวเมือง โดยหอการค้า-สภาอุตสาหกรรม-นักธุรกิจ รวมตัวเสนอเป็นเสียงเดียว ให้ยกระดับทางรถไฟข้ามสะพานสามแยกปักฯ-สะพานสีมาธานี และสะพานหัวทะเล ซึ่งยังขัดแย้ง โดยทางจังหวัดฯจะประชุมสรุปกับ รฟท.ที่จะทำรูปแบบทั้งทุบ-ข้ามสะพานสีมาธานี มาเสนอครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2562 ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย และหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมและตัวแทนภาคประชาชน ฯลฯ ได้ประชุมย่อย “รถไฟทางคู่” พิจารณาเสนอแนะรูปแบบวิธีการก่อสร้างทางรถไฟช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานข้ามแยกสีมาธานี

โดยนายวราวุฒิ มาลา รักษาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. ได้ชี้แจงรูปแบบ วิธีการและขั้นตอน ระยะเวลา งบประมาณและการบริหารจัดการจราจรทางเลี่ยงและผลกระทบในระหว่างดำเนินโครงการ ฯ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตทุกมิติและตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคราช รวมทั้งความเป็นไปได้ของหลักวิศวกรรมก่อสร้าง และอยู่ในกรอบวงเงินคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

โดยทางรฟท.เสนอ 3 แนวทางดังนี้ แนวทางที่1 ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ2 ระยะทาง 4 กิโลเมตร (ไม่รื้อสะพานสีมาธานี), แนวทางที่2 ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ2 ระยะทาง 5 กิโลเมตร (รื้อสะพานสีมาธานี) และแนวทางที่3 ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ3 ระยะทาง 13 กิโลเมตร (ไม่รื้อสะพานสีมาธานี)

ซึ่งผลการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปตรงกัน คือ เห็นด้วยกับรูปแบบที่ 2 คือ ทุบสะพานรถยนต์ บริเวณโรงแรมสีมาธานี โดยรถไฟทางคู่จะลอดใต้สะพานต่างระดับปักธงชัย ก่อนยกระดับขึ้น ยาวเข้ามายังสถานีรถไฟนครราชสีมา ความสูงของรถไฟทางคู่ อยู่ระดับ 2 หรือ ประมาณ 10 เมตร ใช้งบประมาณ 11,518 ล้านบาท โดยการรถไฟฯ จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป และหาก ครม.อนุมัติ จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้เดือนกรกฎาคม 2563 แล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2566

โดยหลังจากนี้ต้องมีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงก่อสร้างและทุบสะพานสีมาธานี ระยะเวลา 3 ปีเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด สำหรับ “สะพานหัวทะเล” การรถไฟฯชี้แจงว่ามีโอกาสแก้ไขได้ เพราะยังไม่มีการเซ็นสัญญาโครงการแต่อย่างใด

ด้าน เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าฯและแกนนำกลุ่มโคราชเพื่อโคราช เปิดเผยว่า “กลุ่มโคราชเพื่อโคราชได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม กับผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะ พร้อมกับพี่น้องชาวโคราช วันนี้หาข้อสรุปร่วมกันได้ วันนี้เป็นจุดจบที่ดี แฮปปี้เอนดิ้ง กลุ่มโคราชเพื่อโคราชได้ทำงานอย่างหนักพอสมควร โดยพยายามหาทางออกว่า ถ้าหากต้องทุบสะพานสีมาธานีจริงๆ เราจะมีทางออกที่ดีสำหรับชาวโคราชอย่างไร และวันนี้เราก็ได้มีโอกาสได้นำเสนอต่อที่ประชุม”

“โดยใต้สะพานสีมาธานี ในอนาคตก็ยังมีเส้นทางรถไฟอยู่แต่ในอนาคตต้องเอาออก และรถไฟทางคู่ต้องยกระดับข้ามมา แต่สิ่งที่เรากังวลก่อนหน้านี้คือ การจราจรจะมีปัญหาเรื่องมีรถติดสะสม 4-10 ชั่วโมง แต่ทางกลุ่มฯ หลังจากที่ได้ประชุมกัน และหาข้อมูล โดยคุณอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าฯ และที่ปรึกษา ได้บอกว่าถ้าอย่างนั้น หากเราทำเป็นสะพานชั่วคราว โดยเป็นสะพานเหล็ก เหมือนที่กรุงเทพฯมีสะพานไทย-เบลเยี่ยม สามารถก่อสร้างได้เร็ว รื้อถอนได้เร็ว ทำข้างละ 2 ช่องจราจรยาว 600 เมตร ทำขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนสะพานสีมาธานี ระหว่างที่ทุบสะพานสีมาธานีไป”

“ขณะเดียวกันโครงการขยายสุระ2 ก็จะเสร็จ และมอเตอร์เวย์ก็กำลังจะเสร็จ คิดว่านี่คือคำตอบของกลุ่มโคราชเพื่อโคราช ที่ช่วยกันทำงานหาทางออก และนำเสนอในที่ประชุม ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังบอกว่า ที่กรุงเทพฯยังคิดไม่ออก แต่เราช่วยกันทำงานจนหาทางออกที่ลงตัว วันนี้อยากจะเรียนพี่น้องโคราชทุกๆคน เราดีใจที่เห็นชาวโคราชใช้เหตุผลคุยกัน และกลุ่มโคราชเพื่อโคราชที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการหาคำตอบให้แก่เมืองโคราช และจะสามารถช่วยลดผลกระทบ อาจจะมีอยู่สำหรับปัญหาจราจร แต่จะสามารถช่วยลดไปได้มากพอสมควร” เภสัชกรจักริน กล่าวทิ้งท้าย