ทุบ-ไม่ทุบ “สะพานสีมาธานี” ยังสรุปไม่ลง รถไฟทางคู่ผ่าเมืองโคราชบานปลาย ร้านค้าใต้ “สะพานหัวทะเล” อยากให้ทุบสะพานด้วย หลังธุรกิจใต้สะพานเจ๊งระเนระนาด ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจซบเซานานกว่า 30 ปี ขณะที่สถานีรถเมล์หัวทะเลร้าง ผู้โดยสารหายหมด ร้านค้าเจ๊งปิดกิจการเกลี้ยง ผู้ว่าฯเตรียมประชุมสรุปกันยายนนี้

คืบหน้า กรณีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเขตตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งยังคงเป็นปัญหาความเห็นต่าง เรื่องการจะให้ทุบ หรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี จนทำให้ยังไม่มีข้อยุติและส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ในเขตตัวเมืองนครราชสีมาถึงปัจจุบัน กระทั่งล่าสุดวันนี้ได้มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ติดป้ายขอให้มีการทุบสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล หน้าโรงแรมเฮอร์มิเทจ ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมาด้วย หลังจากที่ผู้อยู่อาศัยบริเวณ 2 ฝั่งข้างสะพาน ได้รับผลกระทบ ทำให้เศรษฐกิจซบเซา อาคารและบ้านเรือนร้างไปทั้ง 2 ฝั่งมานานกว่า 30 ปีแล้วตั้งแต่สร้างสะพานนี้ขึ้นมา

ล่าสุดวันที่ 9 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ในพื้นที่ 2 ฝั่งข้างสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล พบว่าอาคาร บ้านเรือนต่างๆกว่า 20 คูหาที่อยู่บริเวณดังกล่าว ได้รกร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย บางอาคารเคยใช้เป็นอาคารพาณิชย์ ประกอบกิจการร้านค้าต่างๆ ช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองก่อนสร้างสะพาน ปัจจุบันก็มีการปิดประตูล็อกกุญแจทิ้งไว้นานแล้ว ส่วนบางอาคารก็มีการเช้าเปิดเป็นร้านขายอะไหล่รถยนต์ และร้านตัดสติ๊กเกอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสถานีจอดรถเมล์หัวทะเล ที่อยู่บริเวณทางลงสะพานหัวทะเล ซึ่งในอดีตเคยมีรถเมล์หลายสาย มาจอดรับผู้โดยสารตลอดทั้งวัน แต่ปัจจุบันนี้ เหลือเพียงรถเมล์สาย นครราชสีมา-ครบุรี เพียงสายเดียวเท่านั้นที่มาใช้บริการประจำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในสถานีต้องปิดกิจการหนีไปหมด เหลือเพียงร้านของเจ๊เล็กเจ้าเดียวเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนภายในอาคารนั่งพักผู้โดยสาร ก็มีการเก็บที่นั่งไม้ไปกองทิ้งไว้ริมอาคารจนผุพัง เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารมานั่งรอแออัดเหมือนในอดีตแล้ว

นางเพ็ญศรี ศรีตะวัน หรือเจ๊เล็ก อายุ 57 ปี ผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่งในสถานีจอดรถเมล์หัวทะเล กล่าวว่า “ในอดีตช่วงก่อนสร้างสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเลนั้น สถานีจอดรถเมล์แห่งนี้ เป็นที่จอดรถเมล์หลายสาย ทั้งที่วิ่งอยู่ในตัวเมืองนครราชสีมา และวิ่งออกไปต่างอำเภอ ซึ่งจะมีผู้โดยสารมารอขึ้นรถเมล์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น จะมีนักเรียน นักศึกษา มารอขึ้นรถเมล์อย่างเนืองแน่นทุกวัน ขณะนั้นจึงมีร้านอาหารมาจองแผงขายอาหารอยู่เต็มทุกแผง รวมจำนวน 7 แผง แต่หลังจากที่สร้างสะพานหัวทะเลแล้ว ก็ทำให้บริเวณนี้เดินทางเข้าออกไม่สะดวก รถเมล์จึงไม่วิ่งเข้ามา เพราะต้องอ้อมไปกลับรถไกล ขณะเดียวกันผู้โดยสารก็เดินทางมาไม่สะดวกเช่นกัน ทำให้เริ่มกลายเป็นสถานีร้าง ไม่มีรถเมล์และผู้โดยสารเข้ามาอีกเลย”

“ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารก็ขายของไม่ได้ พากันปิดร้านหนีกันหมด เหลือเพียงร้านตนร้านเดียวที่ยังอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีแผนว่าจะย้ายออกไปเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ได้ โดยมีทั้งค่าเช่าแผงเดือนละ 1,500 บาท ค่าน้ำ และค่าไฟด้วย จึงได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ตนเองจึงอยากให้มีการทุบสะพานหัวทะเลนี้ซะ แล้วทำให้รถวิ่งภาคพื้นดินเหมือนในอดีต ส่วนรถไฟทางคู่ก็ให้ยกขึ้นวิ่งด้านบนแทน เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจบริเวณนี้ฟื้นฟูกลับมารุ่งเรืองเหมือนในอดีตอีกครั้ง” นางเพ็ญศรี กล่าว

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า “ได้มีการกำชับจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อที่จะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ล่าช้ามานานกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งนายวิเชียรฯ เตรียมที่จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาร่วมแสดงความคิดเห็นและหาข้อสรุปอีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้ต่อไป”