“จังหวัดฯ-กรมศิลป์”เตรียมขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร บริเวณต้นโพธิ์ใกล้กับอุโบสถกลางน้ำ หรือ “สถานพระนารายณ์” หลังสำนักศิลปากรโคราช มีหลักฐานชัดว่า ใต้ดินของพื้นที่วัดพระนารายณ์กลางเมืองโคราช เป็น “ปราสาทขอมโบราณ 1,000 ปี” ที่มีอายุมากกว่าประสาทหินพิมาย

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2562 นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เปิดเผยว่า “จากประวัติเมืองโคราชวัดพระนายรายณ์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองโคราช ไม่ได้สร้างสมัยพระนารายณ์มหาราช  แต่สมเด็จพระนารายณ์ฯมาบูรณะซ่อมแซม เพราะเป็นเมืองที่สำคัญที่ต้องดูแลเมืองบริเวณที่ราบสูง”

“ซึ่งจากหลักฐานที่เราพบจาก “สถานพระนารายณ์” ที่พบทับหลังนารายณ์ และเทพนพเคราะห์ บริเวณปราสาทขอมเก่าก่อสร้างด้วยอิฐ อายุ 1,000 ปี เป็นปราสาทอิฐรุ่นแรกๆที่คนโคราชอาจจะไม่ค่อยรู้ มีอายุประมาณปีพศ.1500-1600 และนำทับหลังไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย และยังได้ค้นพบพระพุทธรูปหินพันปีด้วย”

“โดยข้อมูลยืนยันจากหน่วยศิลปากรที่ 6 ในขณะนั้น ได้เคลื่อนย้ายโบราณวัตถุเหล่านี้มาจากสถานพระนารายณ์ ภายในวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เมื่อปี 2507 บริเวณใกล้กับอุโบสถกลางน้ำ บริเวณต้นโพธิ์ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า กลางเมืองโคราช เป็นศาสนสถานของปราสาทขอมโบราณ ก่อด้วยอิฐอายุประมาณ 1,000 ปี เก่าแก่กว่าปราสาทหินพิมาย และถือว่าเป็นปราสาทอิฐรุ่นแรกๆที่พบในจังหวัดนครราชสีมา”

นายจารึก กล่าวอีกว่า “ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา จะทำหนังสือขออนุมัติจากกรมศิลปากร ทำการขุดค้นพื้นที่บริเวณสถานพระนารายณ์ ภายในวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เพื่อตรวจสอบหลักฐานเดิมที่เป็นแนวฐานของตัวปราสาทขอมโบราณที่ปัจจุบันถูกสิ่งปลูกสร้างทับอยู่ จะได้เห็นหลักฐานทางโบราณคดี หรือร่องรอย รากฐานเดิมของตัวปราสาทว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดพระนารายณ์มหาราชให้สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์อายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปีของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

“สำหรับงบประมาณสำรวจทางผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 5 แสนบาท เพื่อทำการขุดค้นพื้นที่บริเวณสถานพระนารายณ์ ภายในวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เพื่อขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณดังกล่าวแล้ว คาดว่า หากกรมศิลปากรอนุญาต จะเริ่มขุดสำรวจภายในเดือนมีนาคมนี้” นายจารึก กล่าว