หลังชาวโคราชโพสต์ภาพ “สระแก้ว”เขียวเหมือนน้ำเน่า วิจารณ์สนั่นโซเชียลร้องเทศบาลโคราชให้แก้ไขด่วน! “สระแก้ว” ข้างวัดสระแก้ว สระน้ำโบราณคู่บ้านคู่เมืองมีสีเขียวทั้งคลอง ด้านเทศบาลนครฯลุยตรวจไม่พบปัญหาน้ำเสีย สีเขียวที่เกิดคือสาหร่าย สั่งเร่งดูดขยะ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำเก่าเปลี่ยนน้ำใหม่ แก้ไขท่อระบายน้ำทิ้งข้างสระ เเจ้งผู้ประกอบการร้านค้าไม่ให้ทิ้งน้ำเสีย และเศษอาหารลงสระ พร้อมติดตั้งเครื่องเติมอากาศจำนวน 4 เครื่อง และน้ำพุเพิ่ม 4 ตัวแล้ว

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เทศบาลนคร นครราชสีมา โดยนายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครฯพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการคุณภาพน้ำ ส่วนช่างสุขาภิบาล สำนักการช่าง ได้เข้าตรวจสอบวัดคุณภาพน้ำในสระน้ำโบราณตั้งอยู่ข้างวัดสระแก้ว  ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองโคราช โดยดูดตะกอนสาหร่ายสีเขียวในสระน้ำมาตรวจสอบตามกระบวนวิทยาศาสตร์พร้อมฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ตามที่มีประชาชนและชาวโซเชียลร้องเรียนเพราะมีสภาพเสื่อมโทรมน้ำมีสีเขียว โดยเรียกร้องให้เทศบาลนครฯตรวจสอบและแก้ไข

ตามที่เห็นสีน้ำในสระแก้วแห่งนี้ ที่เห็นเป็นสีเขียวนั่นคือ “สาหร่ายสีเขียว” โดยเติบโตเร็วจากสารอินทรีย์ ที่คาดว่ามาจากท่อระบายน้ำ และแสงแดดที่เร่งการเจริญเติบโต โดยหลังจากนี้ทางเทศบาลฯจะทำการถ่ายน้ำในสระแก้วทิ้งทั้งหมด  เนื่องจากสระแห่งนี้เป็นสระปิด และจะนำน้ำใหม่ที่ได้สูบจากลำตะคอง ที่ได้ดันมาจากคูเมือง เส้นหลังถนนกำแหงสงครามหน้าถนนราชนิกูล สูบน้ำมาในสระแก้ว แล้วจัดการทำระบบหมุนเวียน คือสามารถให้ถ่ายน้ำได้ตลอดเวลา

และยังรวมถึงปิดกั้นระบบระบายน้ำที่ไหลลงจากผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือบ้านเรือนในบริเวณรอบสระแก้วทั้งหมด และติดตั้งระบบน้ำพุ เพื่อให้ออกซิเจนของน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกัน และต่อไปจะทำระบบหมุนเวียนน้ำตลอดเวลา จะทำให้ไม่มีสาหร่ายสีเขียวเหล่านี้ขึ้น เพราะสาหร่ายสีเขียวจะยิ่งเติบโตได้ดีถ้าหากมีแสงแดดสาดส่อง

โดยการปรับปรุงสระแก้วครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะสูบหมด โดยจะใช้เครื่องสูบขนาดใหญ่ 12 นิ้วทำการสูบลงท่อระบายน้ำ แล้วนำไปบำบัดที่บ่อของเทศบาลนครนครราชสีมา และเมื่อสูบแล้วเสร็จ จะต้องมาดูพื้นด้านล่างของสระแก้วนี้ และทำการปรับปรุงพื้นก่อน แล้วจึงดันน้ำจากลำตะคองเข้ามา โดยคาดว่าจะใช้เวลาดันน้ำเข้ามาใหม่นี้ประมาณ 1 สัปดาห์

ด้านนายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครฯ กล่าวว่า “สำหรับสระแก้ว สระน้ำแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำระบบปิด กระแสน้ำไม่ไหลหมุนเวียน ต้องสูบถ่ายน้ำภายในสระทิ้งทั้งหมด จากนั้นนำน้ำใหม่โดยสูบมาจากลำตะคอง ปล่อยลงทดแทนให้เต็ม รวมทั้งติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำให้มีระบบหมุนเวียนตลอดเวลา พร้อมติดตั้งน้ำพลุและเรือปั่นน้ำ เพิ่มออกซิเจนผิวน้ำให้มากขึ้น นอกจากนี้ได้ปิดกั้นช่องทางของระบบระบายน้ำเสียจากชุมชนมิให้ไหลลง”

“ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว เทศบาลฯจะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) อีสาน ออกแบบปรับปรุงระบบหมุนเวียนน้ำให้คุณภาพน้ำมีความสะอาดและสภาพแวดล้อมที่สวยงามเป็นระเบียบ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจสร้างให้เกิดขึ้นเป็นแลนด์มาร์คจุดสำคัญของเมืองโคราชที่มีความสวยงามอย่างยั่งยืนต่อไป”