มาแล้ว “เครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5” ผลงานของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มูลค่า 7 แสนบาทโชว์วัดฝุ่นละอองจิ๋วลานย่าโมผ่านฉลุยไม่เกินมาตรฐาน “ผู้ว่าโคราช” พร้อมนำไปติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีการจราจรหนาแน่นมากในช่วงเช้า และช่วงเย็น เตรียมวางมาตรการรณรงค์ป้องกันไว้ 6 มาตรการสกัดฝุ่นจิ๋วพิษ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 62 ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครราชสมา และผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกันรณรงค์งดจุดธูปเทียน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จำนวน 1 เครื่อง มาตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในพื้นที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อยืนยันกับสื่อมวลชนว่าพื้นที่นี้ไม่มีปัญหาค่าฝุ่นละออกขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ในสวนของพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตนยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาค่าฝุ่นลองขนาดเล็ก PM 2.5 แน่นอน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเมษายนนี้”

“ทางจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการวางมาตรการรณรงค์ป้องกันไว้ 6 มาตรการ ประกอบไปด้วย 1.มาตรการตรวจจับควันดำ รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล 2.มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง 3.มาตรการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด 4.มาตรการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ 5.มาตรการเร่งคืนสภาพพื้นผิวการจราจรจากการก่อสร้าง และ 6.มาตรการรณรงค์ขอความร่วมมือลดการจุดธูปเทียน”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “และเพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา เกิดความมั่นใจว่าในพื้นที่ยังไม่มีปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงได้นำเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ของ มทส.ซึ่งมีอยู่เพียง 1 เครื่อง มูลค่ากว่า 7 แสนบาท โดยจะนำมาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีการจราจรหนาแน่นมากในช่วงเช้า และช่วงเย็น คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะวัดค่าฝุ่นละอองโดยใช้เวลาวัดค่าเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง แล้วจะนำข้อมูลการวัดค่าได้มาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป”

“ส่วนการตรวจวัดค่าโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนกว่า 1,700 กว่าแห่ง ซึ่งได้คัดแยกออกมาจำนวน 98 แห่ง ตั้งอยู่ใน 13 อำเภอ ที่เสี่ยงต่อการปล่อยค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพราะเป็นโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงชีวะมวล โรงงานแป้งมัน และโรงสีข้าว เป็นต้น โดยตนได้สั่งการให้แต่ละอำเภอได้จัดตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้”

“นอกจากนี้ก็ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย งดการเผาอ้อย เพราะการเผาอ้อยนอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการลุกลามไปไหม้บ้านเรือน และบ่อยครั้งจะพบมีผู้สูงอายุถูกไฟครอกเสียชีวิตในไร่อ้อยด้วย ดังนั้นถ้าตรวจพบว่ามีใครเผาอ้อยในช่วงนี้ จะต้องถูกจับดำเนินคดีทันที ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลต่างๆ ก็ได้ตัดเงินสำหรับอ้อยที่ถูกเผาลงตันละ 30 บาทด้วย เพื่อเป็นการรณรงค์ไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานในช่วงนี้” นายวิเชียร กล่าวทิ้งท้าย