“ผู้ว่าโคราช” นำทีมบุกป่าเขาใหญ่ อ.ปากช่อง พบแหล่ง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำอภิเษก” ใช้เวลาเดินเข้าจากปากทางกว่า 3 ชั่วโมง เพื่อใช้ในพิธี “พลีกรรมตักน้ำ” เพื่อนำเข้าพิธีสมโภชน้ำอภิเษกใน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ณ วัดกลางเมืองนครราชสีมา หรือวัดพระนารายณ์ฯ ที่กำลังปรับภูมิทัศน์ “โบสถ์กลางน้ำ” อายุ 363 ปีให้เสร็จทันพิธี

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.62 คณะจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย พระสีหราชสมาจารมุนี รองเจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร, นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา, วัฒนธรรมจังหวัดฯ, สำนักงานจังหวัด ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง และคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมสื่อมวลขน ได้ไปดูพื้นที่ๆใช้ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์สถานที่จริงของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” รัชกาลที่ 10 ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาได้เตรียมการเรื่องพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ในส่วนของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ จ.นครราชสีมา เราได้สำรวจแล้วอยู่ที่บริเวณต้นน้ำลำตะคองเหนือน้ำตกเหวสุวัตเขาใหญ่ ซึ่งวันนี้คณะผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้เดินทางมาดูสถานที่จริง โดยต้องเดินเข้ามากว่า 3 กิโลเมตรจึงจะถึงแหล่งน้ำ”

“ซึ่งแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิิ์แห่งนี้ ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และทางเจ้าหน้าที่ อ.ปากช่อง ได้ไปดูและศึกษาและพัฒนาความเป็นมาของแหล่งน้ำแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว และต้องปรับปรุงพื้นที่ใหม่เพราะต้องทำพิธีใหญ่ในการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์พิธีประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย”

“สำหรับบริเวณนี้จะเป็นสถานที่ตักน้ำ หรือ “พิธีพลีกรรมตักน้ำ” แล้วนำมาทำพิธีที่วัดพระนารายณ์มหาราช หรือวัดกลาง เมืองนครราชสีมา ส่วนวันตักน้ำต้องรอกำหนดการจากสำนักพระราชวังก่อนว่าเป็นวันไหน แต่คร่าวๆจะเป็นต้นเดือนเมษายนนี้ งานพิธีนี้ชาวจังหวัดนครราชสีมาต้องร่วมกันแสดงถึงความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่ เพราะบริเวณตักน้ำศักดิ์สิทธิ์น่าจะมีประชาชนอยากมาร่วมพิธีจำนวนมาก เราต้องเตรียมการเรื่องนี้ด้วย” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว

ขณะที่ “วัดพระนารายณ์มหาราช หรือวัดกลางนครโคราช” ถ.จอมพล อ.เมือง จ.นครราชสีมา การดำเนินโครงการบูรณะ “โบสถ์กลางน้ำ” อายุกว่า 363 ปี โดยสูบน้ำออกจากสระใช้รถขุดตักหรือรถแบ็คโฮขุดลอกดินโคลนออก ปรับระดับพื้นและสร้างผนังกั้นน้ำป้องกันตลิ่งทรุด จากนั้นจึงจะปรับภูมิทัศน์ตกแต่งตามแนวทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ที่มีกรมศิลปากรทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามการบูรณะโบราณสถานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

โดยการปรับภูมิทัศน์ “โบสถ์กลางน้ำ” คาดว่าจะทำการขุดลอกแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นจะปล่อยน้ำลงในสระพร้อมกับปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามเป็นสถานที่ออกกำลังกายมีลานวิ่ง และปฏิบัติธรรมของพี่น้องประชาชน ส่วนเมื่อบูรณสระน้ำโบราณแล้วเสร็จ ก่อนงานสมโภชน้ำอภิเษก ซึ่งต้องรอหมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังอย่างเป็นทางการอีกครั้ง