มิกส์ยูส โปรเจ็กต์ “เซ็นทรัลพลาซาโคราช” คว้ารางวัลต้นแบบประหยัดพลังงานระดับสูงสุด เป็นศูนย์การค้าฯขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ที่ออกแบบและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อาคารลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ประหยัดพลังงานได้มากถึง 69.4% หรือ 7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี

หลังจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561ที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน” กระทรวงพลังงาน ได้จัดงาน “มอบฉลากรับรองอาคาร BEC Awards 2018” เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชน เห็นความสำคัญของเกณฑ์รับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารด้านพลังงาน Building Energy Code (BEC) และได้มอบฉลากรับรองอาคาร (BEC Awards) ระดับดีมากให้กับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา สำหรับการออกแบบและเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์อาคาร ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ก็เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ผลการประหยัดพลังงาน 69.4% ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนศึกษาอาคารเซ็นทรัลโคราช ศูนย์การค้าฯขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ต้นแบบประหยัดพลังงาน แบบ “MIXED USE PROJECT” (มิกส์ยูส โปรเจ็กต์) ตามเกณฑ์มาตรฐาน BEC ระดับดีมาก ออกแบบอาคารตามหลักวิศกรรม-ภูมิสถาปัตย์ ทั้งติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็น-ส่องสว่าง โซลาร์รูฟท็อป 3,000 แผง เพิ่มประสิทธิภาพประหยัดพลังงานต่อพื้นที่ได้สูงถึง 69.4 %

คุณโกมล บัวเกตุ ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า “พพ. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับการรับรองอาคารธุรกิจ ในระดับดีมาก ที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบด้านพลังงานเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code, BEC) ซึ่งเป็นที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ให้ความสำคัญในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบอาคาร การทำระบบส่องสว่าง และ การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ที่สามารถประหยัดพลังงานโดยรวมได้ถึง 69.4 % หรือประหยัดพลังงานในอาคาร ประมาณ 7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี จากเดิมที่มีการใช้พลังงานของอาคารคิดเป็น ประมาณ 23 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี”

“การส่งเสริมให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะอาคารธุรกิจขนาดใหญ่มาให้ความสนใจในเรื่องการนำมาตรฐานของ BEC มาเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ รวมทั้งการออกแบบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในด้านของต้นทุนพลังงานที่ลดลง”

“ซึ่งที่ผ่านมา พพ. ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาคารศูนย์การค้า เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เป็นอีกอาคารหนึ่งที่จะเป็นต้นแบบและแนวทางของการนำไปปรับใช้เพื่อการวางระบบอาคารธุรกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” คุณโกมลกล่าว

ด้าน นายเสฏฐวุฒิ ทัตสุระ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับการดำเนินการออกแบบอาคารเซ็นทรัลพลาซา อนุรักษ์พลังงานดังกล่าว ได้ออกแบบตามหลักวิศกรรมและภูมิสถาปัตย์ ที่เป็นโครงการมิกส์ยูส (Mixed-use) ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โครงการที่อยู่อาศัย คอนโดมีเนียม และโรงแรม”

“ดังนั้นปริมาณการใช้ไฟในแต่ละปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจึงได้มีการลงทุนในการวางระบบการบริหารจัดการด้านพลังงาน ประมาณ 3-5 % ของวงเงินลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ทำความเย็นภายในอาคารที่มีประสิทธิภาพ”

นายเสฏฐวุฒิ กล่าวอีกว่า “ซึ่งการทำระบบส่องสว่างภายในอาคาร โดยเลือกติดตั้งกระจกโลว์อี และใช้ฟีชฟร็อป ที่มีคุณสมบัติให้แสงสว่างกันความร้อนและป้องกันรังสีเข้าภายในอาคาร รวมถึงการใช้หลอดไฟ LED ที่ใช้พลังงานต่ำ และยังได้ออกแบบด้านข้างอาคารเป็นลานจอดรถทั้งสองด้าน เพื่อสามารถเป็นฉนวนกันความร้อนเข้ามาภายในตัวอาคารอีกด้วย”

“นอกจากนั้นบริษัทยังได้ลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อปขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 3,000 แผง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 4,000 หน่วย/วัน ซึ่งจะช่วยให้อาคารแห่งนี้สามารถลดใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าและเกิดการประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“และเมื่อปลายปีที่แล้วเซ็นทรัลโคราชยังได้เปิด ChargeNow จุดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ Plug in Hybrid เพื่อให้บริการลูกค้าผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้บริการฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายโดย บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และพาร์ทเนอร์ “เซ็นทรัลกรุ๊ป” และ GLT Green เป็นผู้บุกเบิกโครงการ ChargeNow  เครือข่ายการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แห่งแรก สำหรับ PHEVs & EVs สำหรับยานยนต์ทุกแบรนด์และทุกรุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลกอีกด้วย” นายเสฏฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้การตื่นตัวของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากฐานข้อมูลมีจำนวนอาคารกว่า 38 อาคาร ส่วนใหญ่เป็นอาคารสถานศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีผลประหยัด 1.48 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี (ktoe/y) หรือคิดเป็น 60 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง พพ. มีเป้าหมายในการขยายผลการเข้าไปส่งเสริม ของอาคารธุรกิจอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2562 ต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาพรวมการดำเนินงานของโครงการ BEC ทั่วประเทศ พพ.ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่เริ่มปี 2553-2561 ที่ผ่านประมาณ 9 ปี มีแบบอาคารที่ส่งแบบเข้ามาตรวจรวมแล้ว 700 แห่ง มีผลประหยัด 40.57 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี (ktoe/y) หรือคิดเป็น 1,660 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้การดำเนินการการออกแบบอาคาร BEC ถือเป็นไปตามแผนการอนุรักษ์พลังงาน ของประเทศ หรือ EEP 2015 เพื่อให้ผลบังคับใช้ และมีผลการอนุรักษ์พลังงานทั้งระบบ ซึ่งในปีนี้จะมีการบังคับใช้กับอาคารที่ก่อสร้างใหม่ หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงมหรสพ สถานบริการ อาคารชุมนุมคน อาคารชุด และสถานศึกษา โดยเริ่มบังคับใช้กับอาคารที่มีพื้นที่ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป และบังคับใช้กับอาคารขนาด 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไปในปี 2563 และบังคับใช้กับอาคารตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรในปี 2564