โคราชมหานครเมืองอกแตก! ขอนแก่นทางรถไฟทางคู่ลอยฟ้าทั้งเมือง ล่าสุดผู้ว่าโคราช และเทศบาลนครฯ-โยธาจังหวัดฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ เข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ชี้แจงปัญหาการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองไม่เป็นตามสัญญา พร้อมนำผู้เกี่ยวข้องเตรียมเข้ากรุงเทพฯยื่นหนังสือรมว.คมนาคม ต้องยกระดับทางรถไฟทุบสะพานสีมาธานีเท่านั้น! เพราะการรถไฟจะสรุปเดือนก.พ.นี้หวั่นไม่เป็นไปตามที่ร้องขอ

หลังจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อม นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา, นายกงกฤช หิรัญกิจ เจ้าของโรงแรมสีมาธานี, โยธาธิการจังหวัดนครราชสีมา, และคณะเข้าพบ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างทาง “รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่” ช่วงผ่านตัวเมืองเขตเทศบาลนครฯของจังหวัดนครราชสีมา ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคมกรุงเทพมหานคร

ล่าสุดวันที่ 11 ม.ค.2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “หลังจากเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ของงานจ้างปรับแบบรายระเอียดบริเวณ อ.สีคิ้ว และตัวเมืองนครราชสีมา ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งจะไปสรุปครั้งสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์นี้”

“การประชุมครั้งล่าสุดมีการถกปัญหาเรื่องปรับแบบทางรถไฟรางคู่ ประเด็นหลักอยู่ตรง “ทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี” ซึ่งชาวโคราชที่มาฟังอยากให้ทุบเพราะจะได้ยกระดับช่วงผ่านเมือง แต่เหตุผลของบริษัทฯที่ปรึกษาโครงการ ได้ทำวิจัยว่าถ้า “ไม่ทุบสะพานสีมาธานี” จะเกิดผลกระทบกับถนนมิตรภาพน้อยกว่า และประหยัดงบอีก 1,336 ล้านบาท แต่หากทุบสะพาน โคราชจะเกิดวิกฤติจราจรอย่างหนักเป็นลูกโซ่นานถึง 30 เดือน การเดินทางของชาวโคราชในตัวเมืองต้องเผื่อเวลารถติดเกือบ 1 ชั่วโมงเวลาเร่งด่วน”

“พอมาปีนี้ตนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าพบปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่ออธิบายถึงเรื่องข้อตกลงระหว่างการรถไฟ-กระทรวงคมนาคม-จังหวัดนครราชสีมา และพี่น้องชาวโคราช เรื่องการยกระดับทางรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมือง ว่าเป็นมาอย่างไร และมีการตกลงว่าทางรถไฟจะยกระดับตั้งแต่สะพานยกระดับสามแยกปักฯ เพื่อทำให้การสัญจรของชาวโคราชโดยเฉพาะรถขนาดเล็กข้ามไปมาได้ แต่พอเรื่องมาถึงผู้ศึกษาวิจัยก็มาเปลี่ยนเป็นยกระดับหลังจากลอดสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานีแล้ว”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “เราก็เล่าให้ปลัดกระทรวงคมนาคมฟังว่าที่มาเป็นแบบนี้ เพราะเพิ่งมารับตำแหน่งใหม่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและปัญหาของชาวโคราช ซึ่งปลัดฯก็อยากให้ทางเราทำหนังสือถึงรมว.คมนาคมด้วย โดยเรียบเรียงเรื่องทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นของการคัดค้านครั้งแรกที่ทางรถไฟทางคู่ยังไม่ยกระดับจนถึงล่าสุด”

“ส่วนเรื่องการจราจรหากทำตามที่ทางโคราชขอให้ทุบ “สะพานสีมาธานี” ทิ้งยังไงก็เกิดขึ้นแน่ แต่เราก็จะหาวิธีบรรเทาลง เช่นหาทางเบี่ยง ทางลอด ทางแยก ยกตัวอย่างที่กรุงเทพฯก็มีการทุบสะพานหลายแห่งก็กระทบจราจรช่วงก่อสร้างเท่านั้น แต่ระยะยาวจะส่งผลดีกับเมืองตลอดไปในอนาคต ซึ่งเราก็บอกว่าหากทุบสะพานสีมาฯแล้วทำทางลอดเพิ่มปัญหาจราจรตรงนี้ก็ไม่มีปัญหาเลย”

นายวิเชียร กล่าวต่อว่า “ส่วนเรื่องการขอให้ทุบ “สะพานหัวทะเล” ด้วยนั้นตรงนี้ไม่ได้อยู่ในข้อเรียกร้องของเราตั้งแต่แรก เพราะเราต้องการให้ทางรถไฟยกระดับ ตั้งแต่ใต้สะพานสามแยกปักฯผ่านในตัวเมืองเท่านั้น เพราะหากยกระดับแล้วซึ่งมีความจำเป็นต้องทุบสะพานสีมาฯ ก็ต้องทุบหรือหากยกข้ามสะพานสีมาธานีได้ก็ถือว่าดีมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าด้านวิศวกรรมทำได้หรือไม่”

“โดยตนได้ให้ทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ ไปทำเอกสารและเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ข้อเรียกร้อง จนไปถึงที่พวกเราเข้าพบรมว.คมนาคม และถึงท่าน นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งครม.สัญจรที่โคราช ซึ่งท่านนายกฯได้รับปากว่า “จะยกระดับทางรถไฟให้ชาวโคราช” โดยรวบรวมรายละเอียดเหตุการณ์ข้อเรียกร้องตั้งแต่เริ่มเพื่อเข้าพบ รมว.คมนาคมอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า”

“จังหวัดฯจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเป็นทางการ เพื่อเดินทางไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ต้องเป็นภายในเดือนมกราคมนี้เท่านั้น ช้าไม่ได้เพราะทีมงานวิจัยของการรถไฟ จะส่งผลสรุปไฟนอลรีพอร์ตทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเราเป็นห่วงว่าผลสรุปจะไม่ตรงกับความต้องการของชาวโคราชที่ขอไว้” นายวิเชียร กล่าวทิ้งท้าย