หลัง “การรถไฟ-ที่ปรึกษา” หวังเบรกไม่ทุบสะพานสีมาธานี อ้างรถจะติดมโหฬารนานถึง 30 เดือนคุยเซฟงบได้อีก 1,300 กว่าล้าน กลุ่ม“โคราชเพื่อโคราช” นำโดย “หมอโจ้”เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าฯ นำทีมบุกเมืองขอนแก่น อึ้งไปไกลแล้วสะพานยกระดับทั้งเมือง เผยงบทางรถไฟยกระดับ นายกฯประยุทธ์ ให้มาแล้ว 3,500 ล้าน ทำไมไม่แก้ให้ถูกจุดชี้ทำยกระดับทางรถไฟข้ามสะพานสีมา-หัวทะเลเลย ส่วนสถานีก็ยกระดับด้วยไม่เดือดร้อนแยกเป็นสองฝั่งจะพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจได้ด้วย

จากการประชุมหารือร่วมการปรับแบบรายละเอียด ในโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญาที่ 2 คลองขนานจิต-ชุมทางจิระ ช่วงพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลาง จ.นครราชสีมา ที่ประชาชนชาวโคราชต้องการให้มีการทุบสะพานลอยรถยนต์ข้ามทางรถไฟ บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าโรงแรมสีมาธานีออก เพื่อทำทางรถไฟยกระดับแทนการวิ่งบนภาคพื้นดินนั้น

แต่เหตุผลของบริษัทฯที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ได้ทำวิจัยว่า “ถ้าไม่ทุบสะพานสีมาธานี จะเกิดผลกระทบกับถนนมิตรภาพน้อยกว่า และประหยัดงบอีก 1,336 ล้านบาท แต่หากทุบสะพาน โคราชจะเกิดวิกฤติจราจรอย่างหนักเป็นลูกโซ่นานถึง 30 เดือน การเดินทางของชาวโคราชในตัวเมืองต้องเผื่อเวลารถติดเกือบ 1 ชั่วโมงเวลาเร่งด่วน”

งงที่ปรึกษา รฟม.นำเสนอไม่เคลียร์

เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา แกนนำกลุ่ม“โคราชเพื่อโคราช” เปิดเผยว่า “หลังจากที่ได้ฟังทีมที่ปรึกษาแล้ว ตนมองว่า การนำเสนอไม่ชัดเจน มองแล้วไม่เห็นภาพ ยังจินตนาการไม่ออก ซึ่งการนำเสนอค่อนข้างแย่เข้าใจยาก สำหรับเรื่องที่จะไม่ทุบสะพานสีมาธานี มองได้ทั้ง 2 ทางว่า หากเลยสะพานสีมาธานีแล้วค่อยยกระดับขึ้นมา จะประหยัดงบ 1,300 ล้าน ประเด็นว่าเรื่องประหยัดงบหรือไม่ประหยัดงบไม่น่าจะเป็นเรื่องหลัก เพราะหลักๆคือ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาให้รถไฟทางคู่มาให้ชาวโคราชได้ใช้บริการได้อย่างสะดวก เพราะมันเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ”

อย่าประหยัดโดยไม่คิดถึงผลกระทบ

“ซึ่งตอนนี้ค่า จี.พี.พี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดประมาณ 2 แสนล้านบาท และที่นายกฯประยุทธ์ อนุมัติงบประมาณให้ 3,500 ล้านบาท เพื่อมาปรับแบบให้ยกระดับตรงนี้เชื่อว่าน่าจะทำได้ โดยที่อย่าไปคิดถึงแค่ความประหยัด แต่ให้คิดถึงวิถีชีวิตของคนโคราช และผลกระทบทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย  ถ้าเราจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จต้องมองเรื่องการใช้ประโยชน์ของโครงการรถไฟทางคู่ และต้องลดผลกระทบที่จะเกิดในชุมชนในช่วงที่ผ่านเมืองด้วย”

เซฟงบแต่สร้างปัญหา-ยกระดับข้ามเลย

เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “ซึ่งประเด็นที่เขาได้นำเสนอว่าจะทำให้ประหยัดไป 1,300 ล้าน แต่มันจะสร้างปัญหาอีกมากตามมา ดังนั้นการที่จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี บางท่านบอกให้ทุบ ส่วนตัวมองว่าถ้าไม่ทุบก็ได้ แต่เรายกระดับก่อนขึ้นสีมาธานีเลยได้ไหม ข้ามไปเลยจะดีกว่าไหม ซึ่งน่าจะอยู่ในงบประมาณที่นายกฯให้มาคือ 3,500 ล้าน”

ใช้สะพานสีมาทุกวันหากทุบสาหัสแน่

“ซึ่งถ้าทำได้ วิถีชีวิตคนแถวนี้ก็จะไม่มีผลกระทบ ปัญหาการจราจรที่บอกว่าจะติดสาหัสถึง 30 เดือน ซึ่งก็ยอมรับว่าถ้าทุบสะพานสีมา การจราจรจะสาหัสจริงๆ เพราะส่วนตัวก็ใช้เส้นทางข้ามสะพานสีมาเป็นประจำที่ร้านหมอยาพลาซ่าสาขาอัมพวัน ตนมองว่ารถติดหนังแน่ เพราะไม่มีถนนเส้นรองที่จะมาทดแทนได้ ถือเป็นความเดือดร้อนที่รุนแรง ถึงแม้จะบอกว่าสุดท้ายพอโครงการเสร็จมันจะเรียบร้อยก็ตาม และคิดว่าถ้างบพอก็น่าจะยกข้ามสะพานสีมาธานีไปถึงสะพานหัวทะเลอีกได้เลย”

ทุบสะพานสีมาสาหัสแน่รถไม่มีทางไป

“สมมติว่าถ้าข้ามได้ สะพานหัวทะเลก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะไม่มีทางรถไฟ ทุบไปก็จะมีประโยชน์มากกว่าเก็บไว้  เพราะตึกแถวบริเวณนั้นอาจจะฟื้นขึ้นมาได้  แต่ถ้าทุบสะพานสีมาธานีมองว่าหนักหนาสาหัสในการจราจร เราคนพื้นที่ตรงนี้รู้ดีหากทุบสะพานรถจะระบายไปทางไหน ตนอยากให้มองว่าในงบจะสามารถทำได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมาคุยกันเรื่องทุบไม่ทุบ ทะเลาะกันไปมา โครงการก็จะล่าช้าไปอีก เพราะจริงๆเราควรจะเสร็จก่อนขอนแก่น”

แนะทำสถานีเพื่อรองรับการเชื่อมต่อไว้

เภสัชกรจักริน กล่าวต่อว่า “อีกเรื่องคือ สถานีหลักรถไฟทางคู่มันไปพันกับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งออกแบบมาเป็นอาคารเดียวกัน ประเด็นคือทำไมเราต้องรอ  เพราะรถไฟความเร็วสูงเท่าที่ได้ติดตามข่าวมา ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำ อย่างเร็วคือปี 2566 และถ้าไม่มีสถานีแล้วจะทำอย่างไร ยกระดับแล้วต้องลงมาก่อนแล้วขึ้นใหม่หรือ ดังนั้นแม้โครงการจะเกิดหรือไม่ก็ควรจะทำสถานีเพื่อรองรับการเชื่อมต่อไว้ เพราะเราต้องการแก้ปัญหาการแบ่งเมือง เมืองอกแตก ตอนเรายกระดับได้ผลกระทบเราก็น้อยลง แต่ถ้าขึ้นไปแล้วต้องลงพื้นจะยังไงต่อ”

ชี้ฟื้นชีพ 4 แยกอัมพวันไม่มีประโยชน์

“ส่วนเรื่องที่บอกว่าทุบสะพานสีมาธานีเพื่อฟื้นคืน 4 แยกอัมพวัน ตนมองว่าไม่น่าเป็นประเด็น จะมีแยกหรือไม่มีแยก เพราะถ้าทำสำเร็จทันทีเลยมันได้ แต่ระหว่างนั้น 30 เดือนละการจราจรเป็นปัญหามากแน่นอน และถ้าได้ 4 แยกอัมพวันแล้วยังไง เพราะ 4 แยกมันเยอะไปไม่ใช่เรื่องดี เพราะไฟแดงตรง รพ.กรุงเทพราชสีมาก็มีรถก็วิ่งยาวไม่ได้อยู่ดีต้องไปติดไฟแดงอีก”

บุกขอนแก่นทางรถไฟยกระดับผ่านเมือง

“เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านามา ตนและกลุ่ม“โคราชเพื่อโคราช” ได้เดินทางไปดูงานเทศบาลนครขอนแก่น และเข้าพบผู้บริหารเทศบาลนคร ขอนแก่น พร้อมด้วยบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT โดยเรื่องแรกที่ขอนำเสนอแก่ชาวโคราชเรื่องรถไฟทางคู่ยกระดับในช่วงผ่านเทศบาลนครนครราชสีมา ดังนี้ 1.ไม่มีความจำเป็นต้องทุบสะพานลอยช่วงโรงแรมสีมาธานี แต่ขอให้ยกระดับทางรถไฟเริ่มประมาณช่วงมะขามเฒ่า และข้ามสะพานลอยไปเลยและไปลงหลังผ่านสะพานลอยหัวทะเลไปแล้ว เราจะแก้ปัญหาเรื่องเมืองอกแตกได้และไม่ได้รับผลกระทบจากการทุบสะพานลอยสีมาธานีอีกด้วย

(Cr.ภาพจาก ข่าวรถไฟ)

2.ออกแบบและสร้างสถานีรถไฟยกระดับสำหรับโครงการรถไฟทางคู่ไปก่อนโดยควรเตรียมการไว้สำหรับจะเชื่อมสถานีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งที่สถานีรถไฟขอนแก่นก็ได้ดำเนินแล้ว จังหวัดนครราชสีมาจะได้ไม่เสียโอกาสในการรอการโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งอย่างเร็วที่สุดจะสำเร็จในปี2566 และ 3.บริเวณใต้ทางรถไฟซึ่งเป็นที่ของการรถไฟควรประสานงานในการใช้ประโยชน์เช่นเพิ่มพื้นที่จราจรและจัดเป็นสวนสาธารณะกลางเมืองได้ด้วย” เภสัชกรจักริน กล่าวทิ้งท้าย