ผู้ว่าโคราชดันเต็มที่พร้อมเป็นเมืองแห่ง “ท่าเรือบก” เตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางโลจีสติกส์ภูมิภาค ยัน “ขอนแก่น” ได้แล้วไม่จริง เตรียมปลุกชาวโคราชเข้ากรุงเทพฯ สนข. จะจัดเวทีฟังความเห็นประชาชนครั้งสุดท้ายก่อนเสนอ ครม. ผู้ว่าฯมั่นใจศักยภาพเมืองมีความได้เปรียบเสนอ 2 จุดเหมาะสม บริเวณตำบลหนองน้ำขุ่น อ.สีคิ้ว และบริเวณตำบลนากลาง – ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน พร้อมระบุโคราชขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ปีละกว่า 1 แสนตู้ หวังเป็นเมืองอี้อู2 

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่โรงแรมวีวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิด “การประชุมสัมมนา เชิงวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่บุคลากรภาครัฐและเอกชนในการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองแห่งท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดนครราชสีมา  เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค”

โดยมี ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธนรัฐ มิ่งรุจิราลัย คอลัมนิสต์ชื่อดัง และคณะวิทยากรจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่ประสบความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน : เมืองแห่งท่าเรือบก (Dry Port), เมืองแห่งการค้าส่ง และเมืองแห่งการค้าออนไลน์”  โดยยกตัวอย่างเมืองอี้อู ในมณฑลเจ้อเจียง ที่มีศูนย์กลางการค้านานาชาติเมืองอี้อู ที่รู้จักกันในนาม ตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดอี้อู เป็นต้นแบบในการนำเสนอแนวคิด เป็นการให้ความรู้แก่ชาวจังหวัดนครราชสีมา ในการเตรียมพร้อมการประกอบอาชีพรองรับการเป็นเมืองแห่งท่าเรือบก โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมทุกด้านในการเป็นศูนย์กลางโลจีสติกส์ของภูมิภาค และเป็นเมืองแห่งท่าเรือบก โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ เชื่อมโยงอีสานตอนบน-กลาง ทางหลวง 24 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้ ทางหลวงหมายเลข 226 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้และทางหลวง 304 เชื่อมโยงจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งในอนาคตมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมาและการขยายทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย”

“ส่วนทางราง ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอีสานตอนบน จ.หนองคาย และอีสานตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ความเหมาะสมด้านโลจิสติกส์ จ.นครราชสีมา มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 7,513 แห่ง มูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกและยาง โดยมีผลผลิตมวลรวม 264,964 ล้านบาท และปริมาณการบรรทุกทางรางกว่า 16.6 ล้านบาทต่อปี ในส่วนนี้เป็นการขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์กว่า 100,000 ตู้ต่อปี”

“และขอย้ำว่า โคราชมีศักยภาพสูงและมีความเหมาะสมอย่างมากด้านที่ตั้งซึ่งเหมาะแก่การเป็นเมืองแห่งท่าเรือบกของภูมิภาค สำหรับพื้นที่ตั้งท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมาได้ทำการศึกษาไว้ 2 จุด คือที่ บริเวณตำบลหนองน้ำขุ่น อ.สีคิ้ว และบริเวณตำบลนากลาง – ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน ซึ่งมีศักยภาพทั้ง 2 แห่ง”

“ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำโครงการแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ขณะนี้คณะที่ปรึกษาโครงการฯ อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของสถานที่ก่อสร้าง พัฒนาท่าเรือบกในภูมิภาค”

“โดยขณะนี้มี 2 จังหวัดที่เข้าสู่การพิจารณา ตอนแรกทาง สนข.พิจารณาจังหวัดนครราชสีมาเพียงจังหวัดเดียว แต่ จ.ขอนแก่นได้ยื่นเสนอขอให้ สนข.พิจารณาด้วย และมีข่าวค่อนข้างคลาดเคลื่อนเรื่องของการท่าเรือว่า เลือกจังหวัดขอนแก่นไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง และเรามั่นใจว่าโคราชจะได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้แน่นอนหากไม่มีเงื่อนไขอื่นๆมาเกี่ยวข้อง เช่น มีการเสนอมอบที่ดินให้ฟรี  หรือมีผู้ลงทุน เป็น ซึ่งหากทางคณะกรรมการจะนำข้อมูลลักษณะนี้เข้าไปประกอบการพิจารณาขอให้แจ้งทางจังหวัดนครราชสีมาด้วย เพื่อเราจะได้เสนอข้อมูลตามที่ สนข.กำหนด”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “สาระสำคัญของเมืองท่าเรือบก เป็นการส่งเสริม และปรับเปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากล้อผ่านระบบขนส่งทางราง ทำให้ประหยัดต้นทุนและลดปัญหาการจราจรแออัดบริเวณรอบท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมไปถึงสินค้าต่างประเทศผ่านประตูการค้าหลัก เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอนาคต และองค์ประกอบพื้นฐานของ Dry Port”

“ซึ่งประกอบด้วย 1.ความต้องการขั้นพื้นฐาน ที่เกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า,การจัดเก็บสินค้า,การตรวจปล่อยสินค้าสำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยและการดำเนินพิธีการศุลกากร 2.ที่อยู่อยู่ห่างจากแหล่งผลิตสินค้าหรือย่านการค้าประมาณ 50 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากท่าเรือชายฝั่งทะเลในระยะ 100-300 กิโลเมตร 3. Dry Port และท่าเรือชายฝั่งต้องเชื่อมต่อระบบรางและแหล่งผลิตสินค้าหรือย่านการค้าเชื่อมต่อถนน 4.มาตรฐานทางเทคนิค ต้องดำเนินการขนถ่าย รวบรวม จัดเก็บและเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าและการตรวจปล่อย ดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับการค้าระหว่างประเทศได้เต็มรูปแบบและ 6.รูปแบบการลงทุนและการปฏิบัติภายในรัฐบาลลงทุนและให้สัมปทานเอกชนเข้ามาปฏิบัติการหรือลงทุนและปฏิบัติการโดยเอกชนในรูปแบบความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน”

“ทาง สนข. จะจัดเวทีในการรับฟังความเห็นประชาชนครั้งสุดท้ายขึ้นที่กรุงเทพฯ ก่อนสรุปข้อมูลเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี ในการดำเนินการให้โครงการเป็นรูปธรรมต่อไป โดยจังหวัดนครราชสีมาจะนำประชาชนไปร่วมรับฟังในการประชุมครั้งสุดท้ายนี้ด้วย เชื่อว่าจังหวัดนครราชสีมาจะได้รับการพิจารณาให้เป็นเมืองแห่งท่าเรือบกอย่างแน่นอน” ผู้ว่าโคราช กล่าวทิ้งท้าย