เป็นประเด็นร้อนหลังจาก “เทศบาลฯ-หอการค้า-สภาอุตฯ” วิกฤติไม่ยกระดับทางรถไฟผ่าเมือง “โคราชเมืองอกแตก” ชาวโคราชไม่รู้ปัญหาจากการสร้างทางรถไฟรางคู่มาพร้อมกำแพงกั้นสูง 2 เมตรว่ามีผลกระทบไปชั่วชีวิต และวันนี้ 20 ก.ค.คณะผู้ว่าฯโคราช-หอการค้า-สภาอุตฯ-เทศบาล ได้เดินทางไปยื่นคัดค้านกับกระทรวงคมนาคม

จากเหตุการณ์ชาวโคราช นำโดย “หอการค้า-สภาอุตฯ-เทศบาล” คัดค้านโปรเจ็กต์รถไฟทางคู่สายขอนแก่น-สถานีจิระ รูปแบบสร้างทางไม่ยกสูงเหมือน“ขอนแก่น-อุดร” หากทางรถไฟผ่าเมืองอนาคตวิกฤติโคราชจะเป็นเมืองอกแตก ไม่เป็นผลดีต่อวิถีการใช้ชีวิตชุมชนใหญ่

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมรองปธ.หอการค้าฯ และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปยื่นหนังสือถึง เดินหน้ายื่นหนังสือถึง “พลโท วิชัย แชจอหอ”แม่ทัพภาคที่2 และผู้ว่าฯโคราช นายวิเชียร จันทรโณทัย แล้ว

ภายหลังจากที่ เทศบาลนครนครราชสีมา หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนภาคเอกชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พลโทวิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เพื่อเรียกร้องขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้พิจารณาทบทวนแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น จุดผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร

ซึ่งรูปแบบเดิมจะผ่านจุดตัดถนนจำนวน 15 จุด โดยมีกำแพงสูง 2 เมตรกั้นทั้งสองข้างทางรถไฟตลอดแนว และมีการแก้ปัญหาด้วยการก่อสร้างทางเกือกม้าและถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ 6 จุดแทน ซึ่งหลายหน่วยงาน อาทิ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบนี้ เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาการจราจร กระทบวิถีชีวิตชาวโคราช และการพัฒนาเมืองในอนาคตทำได้ยากนั้น

และล่าสุดวันนี้ 20 ก.ค. ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย พร้อมด้วยตัวแทนหอการค้าฯ, นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และเทศบาลนครนครราชสีมา โดย นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย ได้เดินทางไปพบ รมช.คมนาคม ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือต่อกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ดังกล่าว

หากฟังเหตุผลจากการรถไฟฯยันโคราชยกสูงไม่ได้มีหลายปัจจัยไม่เอื้อโดย นายอานนท์  เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีนี้ว่า

“โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา  ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดิน เนื่องจากสถานีรถไฟนครราชสีมาเป็นย่านใหญ่ และอยู่ห่างจากชุมทางถนนจิระเพียง 3 กิโลเมตร”

“หากจะปรับรูปแบบให้เป็นทางยกระดับในช่วงดังกล่าว จะต้องยกระดับบริเวณสถานีจิระด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหากปรับรูปแบบช่วงสถานีรถไฟนครราชสีมาให้เป็นทางยกระดับ จะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต”

“นอกจากนี้เมืองนครราชสีมายังมีโรงรถจักรสำหรับการซ่อมบำรุงรักษารถ หากปรับรูปแบบเป็นทางยกระดับ จะไม่สามารถนำรถเข้าโรงรถจักรสำหรับซ่อมบำรุงได้  ที่สำคัญคือจุดตัดทางรถไฟในจังหวัดนครราชสีมานั้น มีระยะห่างกันค่อนข้างมาก  การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงออกแบบให้มีสะพานข้ามทางรถไฟ หรือถนนลอดใต้ทางรถไฟ หรือสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟ  แล้วสร้างสะพานกลับรถรูปเกือกม้าทดแทนจุดตัดทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยที่ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านทางรถไฟได้เหมือนเดิม”

เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆเพราะเหตุผลต่างกัน และไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับสังคมเมืองโคราชในอนาคตที่ต้องเจอปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมา ถ้าบทสรุปการสร้างทางรถไฟทางคู่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่กลับมีปัญหาการใช้ชีวิตวิถีชุมชน

ทางรถไฟเส้นนี้อาจจะเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต!