“เทศบาลโคราช” มองการณ์ไกลเสนอ 2 โปรเจ็กต์เมืองโคราชสมาร์ทซิตี้ เตรียมเสนอ สนข.เปลี่ยนแบบ “รถไฟฟ้ารางเบา LRT” จากวิ่งบนพื้นเป็นยกระดับเชื่อมคู่ขนานรถไฟรางคู่ที่ยกระดับผ่านเมืองอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนแถมมีช่างฝีมือผลิตโดยหลักสูตรใหม่ของ“มทร.อีสาน”รองรับ และโปรเจ็กต์สร้าง “อุโมงค์ทางลอด” หน้าโรงแรมสีมาธานีฟื้นชีพ 4 แยกอัมพวัน จะทำให้เมือง 2 ฝั่งถนนจะสวยงามมาก

“เทศบาล”นำค้านขอทางรถไฟยกระดับผ่านเมือง

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า “หลังจากที่เทศบาลฯ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ประธานหอการค้าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชนร่วมกันเสนอรัฐบาลให้ปรับแบบทางรถไฟความเร็วสูงและทางคู่จากระดับพื้นดินเพราะจะทำให้การไปมาหาสู่กันแยกเป็น 2 เมืองให้เป็นทางยกระดับสำเร็จ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลที่เห็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เห็นความเดือนร้อน โดยทางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยินดีที่จะปรับให้เกิดความคล่องตัว และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องชาวโคราชแล้ว”

ขอ สนข.เปลี่ยนแบบรถไฟฟ้า LRT ยกระดับ

“เมื่อการประชุมที่ผ่านมาเทศบาลฯเสนออยากให้ สนข.เปลี่ยนแบบของรถไฟฟ้า LRT เป็นยกระดับจากระดับพื้นด้วย เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาจราจรหน้ารร.มารีย์วิทยา เทศบาลฯมองว่าสิ่งที่มองเห็นคือ ไม่ว่างบประมาณในการลงทุนกระเป๋าไหนก็ถือว่าเป็นของคนไทยทุกคน ถ้าบอกว่าทางรถไฟยกระดับแล้ว ตอนนี้ของ สนข.อยู่ในขั้นตอนทำแบบยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง แต่การรถไฟจะสร้างรถไฟรางคู่ก่อน ถ้าสร้างเสร็จแล้ว ถ้าเราอาศัยรางของรถไฟรางคู่ ในการเป็นขนส่งมวลชนในเมืองโคราชด้วยเลยจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม”

รถไฟฟ้าวิ่งเส้นทาง“ภูเขาลาด-หัวทะเล”

“โดยเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา LRT ยกระดับจะเริ่มเส้นจากสถานีแรกเราคิดว่าเป็นบริเวณเส้น “ภูเขาลาด-โคกกรวด และ โคกกรวด-ภูเขาลาด” วิ่งเข้ามาข้างวัดกองพระทราย หรือมาทางโรงแรมสีมาธานี ผ่านสวนภูมิรักษ์ และหน้าโรงเรียนมารีย์ ผ่านต่อมาด้านหลังเทศบาล และไปถึงจวนผู้ว่าฯ หรือสถานีจิระ หน้าค่ายกองทัพภาคที่2 และไปจบที่หัวทะเล”

อานิสงส์รัฐบาลลงทุนรถไฟรางคู่ยกระดับ

นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “ตนมั่นใจว่าโครงสร้างเหล่านี้ซึ่งรัฐบาลลงทุนรถไฟรางคู่ยกระดับไปแล้ว เราก็สามารถนำมาใช้เชื่อมต่อและวิ่งระยะสั้นในเขตเมืองได้ นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถ้ามีโอกาสนำเสนอ โดยทางเทศบาลก็จะขออนุญาตนำเสนอ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว ครั้งนี้หลังจากที่เราดูแล้วว่าทิศทางค่อนข้างชัดเจน”

“มทร.อีสาน”มีหลักสูตรสอนระบบราง

“โดยเฉพาะโคราชของเราเรื่องบุคลากรด้านระบบราง ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ซึ่งวันนี้จะมีหลักสูตรคณะวิศวกรรมระบบราง หรือกระบวนการด้านรถไฟได้ ตนมองว่า มหาวิทยาลัย “มทร.อีสาน” ที่โคราช สามารถดำเนินการสร้างบุคลากรช่างฝีมือดูแลด้านนี้ได้ และสามารถที่จะต่อยอดทำให้ต้นทุนในการเดินทางถูกลงอีกด้วย”

รถไฟฟ้า LRT ไม่ยกสูงมีปัญหาจราจร

“สมมติว่าต้นทุนเหล่านี้ไม่แพงก็จะทำให้ค่าโดยสารถูก แต่สำหรับขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา LRT ไม่ยกสูง ตนมองว่ามีปัญหา ต้องถามคนที่มีปัญหาว่า หากทำแล้วหน้าบ้านค้าขายลำบากหรือไม่สามารถสัญจรไปมาได้ หรือมีรถติดเพิ่มขึ้นอีก ก็จะต้องมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร และยังไม่สรุป แต่เป็นการเสนอข้อคิดเห็นอยากให้เห็นภาพให้มีมิติในการมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ”

วิ่งคู่ขนานกับถ.มุขมนตรีตลอดเส้นทาง

“และที่สำคัญเราไม่ต้องเสียเงินลงทุนในการก่อสร้าง ก็ใช้รางรถไฟในการบริหารจัดการเรื่องของรถไฟในพื้นที่ เชื่อมขนส่งมวลชนในโคราช และโชคดีที่รถไฟรางคู่ที่เกิดขึ้น ก็คู่ขนานกับถนนมุขมนตรีตลอดเส้นทางตั้งแต่เริ่มต้นเลย ไปจนถึง 5 แยกหัวรถไฟ  ไปจนถึงหลังเทศบาล และ ข้างจวนผู้ว่า ก็คู่ขนานกับเมืองไปตลอดก็ทำให้ขนส่งมวลชนสามารถเชื่อมโยงกับถนนเดิม เรียกว่าพื้นที่ค้าขายพื้นที่เมืองเดิมได้เลย โดยที่ไม่ต้องทำพื้นที่เพิ่มเติม เรียกว่าไม่ต้องลงทุนใหม่  และต้นทุนดำเนินการถูกมากเพราะเป็นรางรถไฟที่รัฐบาลทำอยู่แล้ว”

ทุบสะพานสีมาฯทำทางลอดเหมาะสุด

นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า “สำหรับเรื่องที่จะทุบสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี เพื่อสร้างทางรถไฟยกระดับรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ ยังไม่มีการเสนอแบบว่าจะเป็นรูปทรงอย่างไร ทางเทศบาลมองเห็น และอยากจะนำเสนอการรถไฟฯก็คือ ถ้าไม่มีสะพานจะสามารถทำอุโมงค์ทางลอด และทำให้ถนนมุขมนตรี ถ้าในอดีตจะเรียก 4 แยกอัมพวัน ถ้าเราสามารถกลับมาเห็น 4 แยกอัมพวันได้ ก็หมายถึงการจราจรในโซนนี้ก็จะไม่ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองแบบเดิมก็จะตรงไปตรงมา 4 แยกอัมพวันก็จะสามารถทะลุตรงได้เลย ถนนเลียบนครก็สามารถตรงมาได้เช่นกัน”

ฟื้นชีพ 4 แยกอัมพวันลดปัญหาจราจรได้

“หรือถ้ามาจาก โรงแรมแคนทารีจะยูเทิร์นไปโรงแรมสีมาธานีก็สามารถยูเทิร์นได้ วันนี้เทศบาลได้ทำโมเดล 3 มิติมาดูว่า หน้าตา “อุโมงค์ทางลอดแยกอัมพวัน” เสร็จแล้วจะเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนก็มองว่า น่าจะสะดวกในการสัญจรไปมา และลดปัญหาจราจรได้ด้วย เรียกว่าเป็นการฟื้นชีพ 4 แยกอัมพวันก็ได้ และสิ่งที่ตามมาคือ การเชื่อมโยงระหว่าง อัมพวันในส่วนวัดกองพระทราย ข้ามฟากมาวัดใหม่อัมพวัน ก็สามารถตรงมาได้ง่ายขึ้น”

เตรียมเสนอผู้ว่าฯ-หอการค้า-สภาอุตฯ

“และถ้า 4 แยกอัมพวันหรือแยกหน้าโรงแรมสีมาธานีเป็นอุโมงค์ทางลอด ไม่มีสะพานลอย ตนมั่นใจว่า 2 ข้างทางก็จะเกิดความสวยงามมากขึ้น ซึ่งได้มีการพูดคุยคร่าวๆกับทางรถไฟแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องลองทำโมเดลดูก่อน เมื่อโมเดลเสร็จแล้วจึงค่อยคุยว่าตรงนี้เป็นแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเมืองโคราชให้สวยงาม และคล่องตัวในการสัญจรต่อไป ซึ่งจะต้องให้พี่น้องประชาชนดูแบบก่อน และทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ดู ถ้าคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวโคราช เราก็นำเสนอเรื่องนี้กับทางรถไฟต่อไป” นายสุรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย