รฟท.เปิดเวทีชี้แจงแบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะที่1 พร้อมสร้างปลายปีนี้ จะมี 3 สถานีคือ สถานีปากช่อง,สถานีนครราชสีมา และสถานีบัวใหญ่ เคาะค่าโดยสารเริ่มต้น 107 บาท พร้อมใช้งานปี 2566 ด้าน “เทศบาลโคราช” ขอให้ทาง สนข.ทบทวนรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา LRT ใหม่ ที่ สนข.ออกแบบเป็นภาคพื้นดินให้เป็นแบบทางยกระดับขึ้น เพราะจุดเชื่อมต่อการเดินทางช่วงสถานีรถไฟ จ.นครราชสีมา จะส่งผลกระทบการจราจรหน้าโรงเรียนมารีย์ ส่วนเส้นในเมืองควรจะใช้บริการรถเล็กเข้าไปรับผู้โดยสารจากสถานีหัวรถไฟแทน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.61 ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนที่มีที่ทำกินและที่พักอาศัยในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่าน ร่วมประชุมกว่า 500 คน

ซึ่งวันนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้นำรูปแบบสถานี และลักษณะเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาให้ประชาชน 4 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอเมืองนครราชสีมา ได้ชม และร่วมแสดงความคิดเห็น ในการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟ  พร้อมวิศวกรโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากประเทศจีน ร่วมให้ข้อมูล

โดยความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ –นครราชสีมา ปลายปีนี้ จะเริ่มก่อสร้างสัญญาที่ 2 จากสถานีรถไฟสีคิ้ว-สถานีรถไฟกุดจิกระยะทาง 11 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟความเร็วสูงที่ผ่านโคราช จะมี 3 สถานีคือ สถานีปากช่อง,สถานีนครราชสีมา และสถานีบัวใหญ่ เปิดใช้ปี 2566

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายจะสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค หรือที่เรียกคุ้นหูกันว่ารถไฟไทย-จีน มาจากกรุงเทพมหานคร ถึง จ.นครราชสีมานั้น วันนี้เป็นการรับฟังข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งมีการปรับแบบเพิ่มเติม เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ทาง จ.นครราชสีมา ได้เสนอขอปรับรูปแบบรถไฟทางคู่ให้ยกระดับ 2 จุด คือที่ อ.สีคิ้ว และ อ.เมืองนครราชสีมา จึงทำให้รถไฟความเร็วสูงต้องปรับแบบตามไปด้วย”

“ซึ่งการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาคนั้น เป็นการสร้างความเจริญมาสู่พื้นที่ จ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร มา จ.นครราชสีมา จากเดิม 3-4 ชั่วโมง เหลือแค่ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีประชาชนเดินทางมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้สะดวก สบาย รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ถ้าเฟสที่ 2 ที่จะสร้างไปถึง จ.หนองคายสร้างเสร็จแล้ว ก็จะสามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศ สปป.ลาว และประเทศจีน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เติบโตไปแบบก้าวกระโดดในอนาคต”

“แต่ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณสถานีรถไฟปากช่อง ห่างจากสถานีรถไฟเดิมถึง 7 กิโลเมตร ซึ่งตนก็อยากจะเสนอต่อ สนข.ว่า ทำอย่างไรจะทำให้รถไฟระบบเดิม สามารถมาจอดที่สถานีรถไฟความเร็วสูงได้ เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมา อ.ปากช่อง สามารถขึ้นรถไฟระบบเดิมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ปางอโศกช่วง 3.5 กิโลเมตรนั้น ตนทราบมาว่าทางกรมทางหลวงให้มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ให้แน่นกว่าเดิม ภายใต้การควบคุมของวิศวกรชาวจีน โดยไทยจะปรับในเรื่องของโครงสร้าง แต่ของจีนจะดูแลในเรื่องของเทคนิคต่างๆ ซึ่งตนดูแล้วทางรถไฟมีความเรียบมาก แต่ทั้งนี้อาจจะลงพื้นที่ไปดูอีกครั้งโดยขอให้วิศวกรชาวจีนช่วยอธิบายรายละเอียดให้ทราบต่อไป”

นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า “การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มาลงที่ จ.นครราชสีมา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดนครราชสีมา แต่ทั้งนี้ทางเทศบาลนครนครราชสีมา ก็ยังเป็นห่วงในจุดเชื่อมต่อการเดินทาง บริเวณสถานีรถไฟ จ.นครราชสีมา ที่จะรับประชาชนจำนวนมากลงมา และใช้บริการระบบการขนส่งอื่นเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด เนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นชุมชนหนาแน่น มีโรงเรียนมารีย์วิทยา อยู่ด้านหน้า ประกอบกับรูปแบบของรถไฟฟ้ารางเบาที่ สนข.ออกแบบมา เป็นภาคพื้นดิน จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการจราจรภาคพื้นดินได้”

“ดังนั้นทางเทศบาลนครนครราชสีมา จึงอยากขอให้ทาง สนข.ทบทวนรูปแบบรถไฟฟ้าใหม่ ให้เป็นแบบทางยกระดับขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอีกรอบ ทั้งนี้เส้นทางหลักจะเป็นเส้นถนนมิตรภาพ ส่วนเส้นในเมืองควรจะใช้บริการรถเล็กเข้าไปรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟแทน”

ด้าน นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ วิศวกรโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน กล่าวว่า “รูปแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา ช่วงที่ผ่านเขตจังหวัดนครราชสีมา จะมีอยู่ 3 สถานี คือ สถานีรถไฟความเร็วสูงปากช่อง จะสร้างขึ้นมาใหม่ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟปากช่องเดิม ประมาณ 7 กิโลเมตร ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีจำนวน 4 ชั้น เป็นในลักษณะรถไฟยกระดับเข้าสถานี  และอีก 1 สถานีรถไฟความเร็วสูง คือ สถานีรถไฟนครราชสีมา หรือหัวรถไฟ มีจำนวน 3 ชั้น ซึ่งสถานีรถไฟนครราชสีมานี้ ยังเป็นสถานีรถไฟรางคู่อีกด้วย”

“โดยรถไฟความเร็วสูงที่จะผ่านเข้ามายังสถานีหัวรถไฟ จะยกระดับสูงจากพื้น ประมาณ 21 เมตร ส่วนรถไฟรางคู่ จะยกระดับในชั้นที่ 2 สูงประมาณ 11 เมตร และทั้ง 2 สถานีนี้จะอยู่ในระยะที่ 1 ส่วนสถานีบัวใหญ่ จะอยู่ในระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา –หนองคาย  ซึ่งเส้นทางสถานีรถไฟความเร็วสูง จะสร้างในเขตการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน คู่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟรางคู่ และจะมีรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งสอดรับกับพื้นที่ 3 รูปแบบ คือ 1.ระดับพื้นดิน 54.5 กิโลเมตร เหมาะสมกับพื้นที่ทั่วไป เช่น พื้นที่โล่ง พื้นที่ที่ไม่มีชุมชนหนาแน่นอยู่ 2 ฝั่งทางรถไฟ โดยจะมีรั้วล้อมรอบ 2.ทางยกระดับ 190 กิโลเมตร ใช้สำหรับแนวเส้นทางบริเวณที่มีชุมชนอยู่ข้างทางอย่างหนาแน่น พื้นที่ที่มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอยู่ข้างทางหนาแน่น  และ 3 อุโมงค์ 7.8 กิโลเมตร  อยู่บริเวณหมวกเหล็ก และลำตะคอง”

นายทศวรรณ กล่าวอีกว่า “ส่วนแนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากจะก่อสร้างในเขตรถไฟทั้งหมด โดยจะสร้างคู่ขนาดเส้นทางรถไฟทางคู่ ส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับรถไฟ  ส่วนระดับพื้นที่จะมีการกั้นรั้วเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากต้องใช้ความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง”

“และหลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสร็จสิ้นในวันนี้แล้ว บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความเห็นไปยังทีมวิศวกรของประเทศจีน เพื่อปรับแบบให้เกิดความเหมาะสมหลังจากนั้น  เนื่องจากโครงการนี้ได้ผ่านการศึกษา EIA เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2557 ต่อจากนี้แผนการก่อสร้างแบ่งทั้งหมด 14 สัญญา”

“โดยสัญญาที่ 1 สถานีกลางดง-ปากอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่า จะเริ่มสัญญาที่ 2 ภายในปลายปีนี้  จะมีการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมา  เริ่มสร้างจากสถานีรถไฟสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ต่อไป ซึ่งรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ –นครราชสีมา ระยะ 1 มีระยะทางรวม 252.3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 30 นาที อัตราค่าโดยสาร เริ่มต้น 107 บาท สูงสุด 534 บาท หรือคิดอัตราค่าโดยสาร 80 บาท  บวก 1บาท 80 สตางค์ ต่อกิโลเมตร เปิดให้บริการปี 2566 ซึ่งรถไฟที่จะใช้ในโครงการฯ เป็นรถไฟความเร็วสูงของจีนทั้งหมด” นายทศวรรณ กล่าวทิ้งท้าย